โจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินตามเช็คทั้งสองฉบับรวมเงินทั้งสิ้น 267,968 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีในต้นเงิน 250,000 บาท
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 2 โอนเช็คพิพาทให้โจทก์ด้วยคบคิดกันฉ้อฉล โจทก์ทราบว่าเช็คทั้งสองฉบับนั้นไม่มีมูลหนี้ต่อกัน โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน250,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย อัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2533 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลย ที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่จำเลยที่ 1 นำสืบว่าจำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คเอกสารหมาย ล.2 ให้จำเลยที่ 2เป็นค่าจ้างงานงวดที่ 3 แต่จำเลยที่ 2 สร้างบ้านไม่แล้วเสร็จจำเลยที่ 1 จึงสั่งธนาคารระงับการจ่าย เมื่อโจทก์นำเช็คฉบับดังกล่าวไปเรียกเก็บเงิน ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินในวันที่ 16 ตุลาคม 2533โจทก์ได้ทวงถามจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ได้แจ้งให้โจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 2 สร้างบ้านงวดที่ 3 ไม่เสร็จ จึงระงับการจ่ายเงินต่อมาเมื่อจำเลยที่ 2 สร้างบ้านงวดที่ 3 เสร็จ จำเลยที่ 1ได้สั่งจ่ายเช็คที่พิพาททั้งสองฉบับให้จำเลยที่ 2 เป็นค่าจ้างสำหรับงานงวดที่ 4 โดยจ่ายล่วงหน้าเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2533 เมื่อจำเลยที่ 2 ได้รับเช็คพิพาทไปแล้วก็ทิ้งงานไป จำเลยที่ 1 ได้แจ้งให้โจทก์ทราบและให้ช่วยตามจำเลยที่ 2 ในต้นเดือนพฤศจิกายน 2533นั้นเอง และได้สั่งอายัดเช็คพิพาท ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า ขณะโจทก์รับเช็คพิพาทจากจำเลยที่ 2 โจทก์ทราบดีอยู่แล้วว่า เช็คพิพาทเป็นเช็คที่จำเลยที่ 1 จ่ายให้จำเลยที่ 2 เป็นค่าจ้างสร้างบ้านงวดที่ 4 เป็นการล่วงหน้า แต่จำเลยที่ 2 ทิ้งงานไปไม่สร้างให้เสร็จตามสัญญาจำเลยที่ 1 จึงไม่มีหน้าที่จะต้องชำระตามเช็คพิพาทให้จำเลยที่ 2 การรับโอนเช็คพิพาทของโจทก์จากจำเลยที่ 2 เป็นการรับโอนด้วยคบคิดกันฉ้อฉล โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกเงินตามเช็ค
พิพากษายืน