โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 830,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 688,227 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 26 มิถุนายน 2562) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล
ศาลอุทธรณ์ 2 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในชั้นนี้โดยคู่ความไม่ได้โต้แย้งกันว่า โจทก์รู้จักกับจำเลยมานาน 2 ปี โจทก์และจำเลยเล่นแชร์ด้วยกันและต่างเป็นนายวงแชร์ โดยโจทก์เล่นแชร์กับจำเลย 2 วง จำเลยเล่นแชร์กับโจทก์ 4 วง เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2562 จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ 830,000 บาท โดยสัญญากู้ยืมระบุว่าจำเลยได้รับเงินไปครบถ้วนเสร็จแล้ว โดยเอาหนี้เงินกู้ 100,000 บาท หนี้ยืมทองคำ 19 บาท มูลค่า 300,000 บาท และหนี้ค่าแชร์ที่โจทก์และจำเลยเป็นนายวง มารวมเป็นสัญญากู้ ไม่มีกำหนดเวลาชำระหนี้ ไม่กำหนดอัตราดอกเบี้ย วันที่ 31 พฤษภาคม 2562 โจทก์มอบอำนาจให้ทนายความมีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ภายในวันที่ 10 มิถุนายน 2562 จำเลยได้รับหนังสือแล้วเพิกเฉย สำหรับหนี้ยืมทองคำ จำเลยนำทองคำไปจำนำและโอนเงินคืนโจทก์ 167,383 บาท และต่อมาโจทก์ให้จำเลยไถ่ถอนทองคำ โดยโจทก์มอบเงินให้จำเลยเป็นค่าไถ่ถอนและดอกเบี้ยรวม 134,617 บาท และหลังจากทวงถาม จำเลยโอนเงินชำระหนี้ให้โจทก์ 5,500 บาท
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า หนี้เงินกู้ตามฟ้องมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายและใช้บังคับได้หรือไม่ เห็นว่า หนี้ตามหนังสือสัญญากู้เงินเกิดจากการนำหนี้เงินกู้ 100,000 บาท หนี้ยืมทองคำ มูลค่า 300,000 บาท และหนี้ค่าแชร์มารวมกัน แม้หนี้เงินกู้เดิมไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมแต่จำเลยยังมีหน้าที่ต้องรับผิดใช้เงินแก่โจทก์ เพียงแต่โจทก์ไม่สามารถฟ้องร้องบังคับคดีจำเลยได้ อย่างไรก็ตามคู่กรณีสามารถตกลงกันทำสัญญากู้ยืมเงินขึ้นเพื่อบังคับตามสัญญากู้ยืมเงินได้ ทั้งการส่งมอบเงินกู้ไม่จำเป็นต้องส่งมอบเงินในวันทำสัญญา สามารถส่งมอบก่อนหรือหลังทำสัญญาก็ได้ และจำเลยรับว่าเป็นหนี้เงินกู้ 100,000 บาท ดังกล่าวจริงตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 12 ธันวาคม 2562 หนี้ส่วนนี้จึงสมบูรณ์ ส่วนหนี้ยืมทองคำก็ปรากฏว่ามีการถ่ายภาพการส่งมอบทองคำ หลักฐานการที่จำเลยนำทองคำไปจำนำ และรายละเอียดค่าใช้จ่าย แม้มีการไถ่ถอนทองคำคืนโจทก์ แต่ก็เป็นการกระทำภายหลังที่มีการทำสัญญากู้ยืมเงินแล้ว โจทก์และจำเลยมีการตรวจสอบยอดหนี้ในส่วนนี้ว่าค้างชำระอีก 134,617 บาท ตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 12 ธันวาคม 2562 หนี้ในส่วนนี้จึงสมบูรณ์เช่นกัน สำหรับหนี้ค่าแชร์เมื่อมีการนำมารวมกับหนี้เงินกู้และหนี้ยืมทองคำแล้วนำมาจัดทำเป็นหนังสือสัญญากู้เงิน จำเลยยอมรับว่ามีการทำสัญญากู้ยืมเงินจริง ส่วนจะเป็นโมฆะตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 มาตรา 6 หรือไม่ นั้น จำเลยเป็นฝ่ายกล่าวอ้าง จำเลยมีหน้าที่นำสืบให้เห็นว่าในช่วงเวลาเดียวกันโจทก์มีการจัดให้เล่นแชร์มีจำนวนวงแชร์รวมกันมากกว่าสามวง หรือมีจำนวนสมาชิกวงแชร์รวมกันทุกวงมากกว่าสามสิบคน และมีหน้าที่นำสืบให้เห็นว่าหนี้ค่าแชร์ที่นำมารวมเป็นหนี้ตามหนังสือสัญญากู้เงินมีทุนกองกลางต่อหนึ่งงวดรวมกันทุกวงเป็นมูลค่ามากกว่าสามแสนบาท เมื่อจำเลยไม่นำสืบ จึงฟังไม่ได้ว่าหนี้ค่าแชร์ที่โจทก์เป็นนายวงเป็นโมฆะ และเมื่อมีการนำหนี้ทั้งสามประเภทมารวมกันเป็นหนี้ เป็นกรณีที่โจทก์และจำเลยตกลงก่อหนี้ขึ้นมาใหม่โดยมีเจตนาให้หนี้เดิมระงับ อันมีลักษณะเป็นการเปลี่ยนสาระสำคัญแห่งหนี้ จึงเป็นการแปลงหนี้ใหม่ และเมื่อมีการหักทอนยอดหนี้ยืมทองคำและมีการชำระหนี้หลังจากทวงถาม คงเหลือหนี้ 688,227 บาท โดยจำเลยไม่นำสืบหักล้างเป็นประการอื่น จึงต้องฟังว่า จำเลยค้างชำระหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้มีการออกพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 ให้ยกเลิกความในมาตรา 7 และมาตรา 224 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความใหม่แทน เป็นผลให้โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัดได้ในอัตราที่กำหนดตามมาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี เว้นแต่เจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้นโดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมายและอาจปรับเปลี่ยนโดยพระราชกฤษฎีกา แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยผิดนัดในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ดังนั้น เมื่อหนังสือสัญญากู้เงินไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ อัตราดอกเบี้ยผิดนัดที่จำเลยต้องรับผิดนับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 จึงต้องเป็นไปตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 688,227 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 26 มิถุนายน 2562) เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้ ดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 ถ้ากระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใดก็ให้ปรับเปลี่ยนไปตามนั้น แต่ไม่ให้เกินกว่าร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2