โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 15, 66, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83 ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง
จำเลยทั้งสามให้การรับว่าร่วมกันมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 530 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย แต่ปฏิเสธว่ามิใช่น้ำหนักสารบริสุทธิ์ 20.188 กรัม
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง วรรคสาม (2) (ที่ถูก มาตรา 15 วรรคสาม (2)), 66 วรรคสาม, 102 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 วางโทษจำคุกคนละตลอดชีวิต และปรับคนละ 1,000,000 บาท จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพตามฟ้องบางส่วนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คนละหนึ่งในสาม คงจำคุกคนละ 33 ปี 4 เดือน และปรับคนละ 666,666 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 โดยให้กักขังแทนค่าปรับเป็นระยะเวลาเกินกว่า 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง
จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุ เจ้าพนักงานจับกุมจำเลยทั้งสามได้พร้อมเมทแอมเฟตามีนจำนวน 530 เม็ด
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ในข้อแรกว่า การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า การแก้ฟ้องเป็นกรณีที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 163 และ 164 โดยเดิมโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสามมีเมทแอมเฟตามีน จำนวน 530 เม็ด น้ำหนัก 20.188 กรัม ต่อมาโจทก์ขอแก้ฟ้องว่า น้ำหนักสารบริสุทธิ์ 20.188 กรัม เพื่อให้ตรงตามรายงานการตรวจพิสูจน์ของกลาง จำเลยทั้งสามให้การตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 11 มิถุนายน 2550 ว่า จำเลยทั้งสามรับสารภาพว่าร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 530 เม็ด น้ำหนัก 20.188 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย แต่ปฏิเสธว่าไม่ได้ร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนคำนวณน้ำหนักสารบริสุทธิ์ 20.188 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จึงเป็นกรณีที่จำเลยทั้งสามมิได้หลงต่อสู้ การขอแก้ฟ้องดังกล่าวจึงไม่ทำให้จำเลยทั้งสามเสียเปรียบในการต่อสู้คดี ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องจึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ลงโทษปรับจำเลยทั้งสามคนละ 1,000,000 บาท ลดโทษให้จำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คนละหนึ่งในสาม คงปรับคนละ 666,666 บาท นั้น เป็นการคำนวณที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากหากลดโทษให้หนึ่งในสามแล้ว จะต้องปรับคนละ 666,666.66 บาท ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 แต่โจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกาในปัญหาดังกล่าว ศาลฎีกาไม่อาจลงโทษปรับจำเลยทั้งสามคนละ 666,666.66 บาทได้ เพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยทั้งสาม ซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225
พิพากษายืน