ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจฟ้องคดีอาญาในศาลแขวงตาม พ.ร.บ.ศาลแขวงฯ พ.ศ.2499: บทบาทผู้ว่าคดีและอัยการ
คดีเกิดขึ้นในระหว่างเวลาที่ใช้บังคับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงฯ พ.ศ.2499 ส่วนพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงฯ(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2503 ยังมิได้ออกใช้บังคับ เมื่อผู้ว่าคดีฟ้องจำเลยต่อศาลแขวงธนบุรี ศาลแขวงธนบุรีไต่สวนมูลฟ้องแล้วสั่งว่า คดีมีมูลฐานวิ่งราวทรัพย์(ซึ่งอยู่ในอำนาจศาลอาญา) และให้ประทับฟ้องไว้ อัยการได้รับสำนวนจากศาลแขวงธนบุรีและพิจารณาแล้วสั่งไม่ฟ้องฐานวิ่งราวคงสั่งฟ้องฐานลักทรัพย์ (ซึ่งเป็นคดีอยู่ในอำนาจศาลแขวง) เช่นนี้เมื่ออัยการฟ้องข้อหาฐานลักทรัพย์ต่อศาลอาญาศาลอาญาจำต้องรับคดีนี้ไว้พิจารณา (ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 15/2503)
ความในพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 14(2) ที่ให้อยู่ในดุลพินิจของศาลจังหวัดที่จะไม่ยอมรับพิจารณาพิพากษาคดีที่เกิดขึ้นในศาลแขวงและอยู่ในอำนาจของศาลแขวงนั้น ใช้ได้แต่ในระบบที่ศาลแขวงมิได้เป็นศาลไต่สวนความผิดอาญาทั่วไปเท่านั้น
นอกจากราษฎรฟ้องกันเองแล้วย่อมเป็นหน้าที่ของผู้ว่าคดีตามความในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงฯ พ.ศ.2499 เท่านั้นที่จะเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีในศาลแขวงตามพระราชบัญญัตินี้ได้ อัยการหาอาจเป็นโจทก์ในศาลแขวงตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงฯ พ.ศ.2499 นี้ได้ไม่ (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 15/2503)