โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกับพวกรวม 20 คน ร่วมกันใช้มีดปลายแหลมแทงนายรัชพงษ์ ชื่อมาก ตายโดยเจตนาห่า และร่วมกันใช้มีดปลายแหลมแทนนายสุเทพ ฉัตรเพชรพิทักษ์ ใช้กำลังทำร้ายนายอุดร สรสุรินทร์ กับนายทองสา ศรีบุญเรือง ได้รับอันตรายแก่กาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 295, 83
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 295 ประกอบด้วยมาตรา 83 และมาตรา 74(5) ให้ส่งตัวจำเลยไปยังสถานพินิจและคุ้มครองเด็กกลางมีกำหนด 1 ปี นับแต่วันพิพากษาข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยกับพวกมีเจตนาฆ่านายรัชพงษ์ ส่วนนายสุเพท นายอุดร นายทองสาถูกแทงและตีได้รับบาดเจ็บ ถือว่าเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษบทหนัก พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 ประกอบด้วยมาตรา 83 นอกจากที่แก้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันให้ส่งจำเลยไปควบคุมตัวไว้ยังสถานพินิจและคุ้มครองเด็กกลางแม้ศาลอุทธรณ์จะปรับบทลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 เพิ่มอีกบทหนึ่ง ก็เป็นการลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 1 ปี จึงต้องห้ามมิให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 จำเลยฎีกาได้แต่เฉพาะในปัญหาข้อกฎหมาย ซึ่งในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาแล้วจากสำนวนว่า จำเลยและผู้ตายกับผู้เสียหายต่างมีพวกฝ่ายละหลายคน จำเลยกับพวกฝ่ายยเดียวมีมีดปลายแหลมเป็นอาวุธขณะที่เข้าชุลมุนต่อสู้กัน เป็นเหตุให้อีกฝ่ายถึงแก่ความตาย1 คน และได้รับอันตรายแก่กาย 3 คน เนื่องมาจากการกระทำของฝ่ายจำเลย รายละเอียดของบาดแผลปรากฏตามรายงานการตรวจศพและผลการตรวจชันสูตรบาดแผลท้ายฟ้องเอกสารหมาย จ.30 จ.11 ถึง จ.13ที่จำเลยฎีกาว่า ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในทางพิจารณาต่างกับฟ้องก็ดี จำเลยมิได้เข้าร่วมชุลมุนต่อสู้กับฝ่ายผู้ตายและผู้เสียหายก็ดีเป็นฎีกาโต้เถียงในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามฎีกาศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ในชั้นนี้คงมีปัญหาว่า เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 83ศาลอุทธรณ์มีอำนาจหยิบยกบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่มีโทษหนักขึ้นมาปับแก่คดีได้หรือไม่ เห็นว่า กรณีเป็นการวิวาทต่อสู้กัน ซึ่งกระทำต่อเนื่องกันไปและจำเลยร่วมกันกับพวกใช้อาวุธฝ่ายเดียวทำร้ายอีกฝ่ายจนได้รับบาดเจ็บและตาย การกระทำของจำเลยกับพวกจึงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำความผิดเพียงร่วมกับพวกทำร้ายอีกฝ่ายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 บทเดียวย่อมไม่ถูกต้องเมื่อคดีมีการอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ก็ชอบที่จะหยิบยกบทมาตราที่ถูกต้องขึ้นปรับคดีได้ หากมิใช่เป็นการเพิ่มโทษจำเลยให้หนักขึ้น แต่ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยร่วมกันกับพวกกระทำความผิดฐานฆ่าคนตายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 อีกบทหนึ่งนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าเมื่อมีการตายและบาดเจ็บเกิดขั้นในขณะวิวาทต่อสู้กันดังกล่าวแล้วเช่นนี้ ย่อมถือได้ว่าจำเลยกับพวกมีเจตนาเพียงทำร้ายฝ่ายผู้ตายจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 ประกอบด้วยมาตรา 83 อีกบทหนึ่งเท่านั้น และต้องลงโทษจำเลยตามบทนี้ที่มีโทษหนักที่สุด แต่เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยหนักขึ้น จำเลยจึงควรต้องรับโทษเพียงไม่เกินกว่าอัตราโทษที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 295 ดังที่ศาลชั้นต้นกำหนด
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 290, 295, 83 ให้ลงโทษตามมาตรา 290 ซึ่งเป็นบทหนักประกอบด้วยมาตรา 74(3) ให้มอบตัวจำเลยแก่บิดามารดาไปดูแลโดยวางข้อกำหนด ฯลฯ.