คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง วรรคสาม (2), 66 วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง วรรคสาม (2), 66 วรรคสาม อีกกระทงหนึ่ง และจำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 57, 91 อีกกระทงหนึ่งด้วย การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 22.094 กรัม จำคุกจำเลยที่ 2 ตลอดชีวิต และปรับ 2,400,000 บาท ฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 12 ปี และปรับคนละ 1,000,000 บาท จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 ความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 36 ปี 18 เดือน และปรับ 1,800,000 บาท ลดโทษให้หนึ่งในสี่ในความผิดฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน คงจำคุก 9 ปี และปรับ 750,000 บาท รวมจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 45 ปี 18 เดือน และปรับ 2,550,000 บาท หากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทน แต่ทั้งนี้ไม่เกิน 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลาง ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง ฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 8 ปี เมื่อลดโทษให้จำเลยที่ 2 หนึ่งในสี่แล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 6 ปี สำหรับจำเลยที่ 2 เมื่อรวมกับโทษจำคุกในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีน (390 เม็ด กับ 335 เม็ด รวม 725 เม็ด) ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว เป็นจำคุก 42 ปี 18 เดือน และปรับ 1,800,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลฎีกาพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ส่วนโทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 คดีในส่วนของจำเลยที่ 2 ได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ให้จำเลยที่ 2 ฟังในวันที่ 5 มิถุนายน 2551 และได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยที่ 2 ฟังในวันที่ 18 มกราคม 2556 โดยหมายจำคุกและกักขังเมื่อคดีถึงที่สุดของจำเลยที่ 2 ระบุคดีถึงที่สุดวันที่ 18 มกราคม 2556
จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอน เปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดของจำเลยที่ 2 โดยให้วันที่คดีถึงที่สุดเป็นวันที่ 5 มิถุนายน 2551
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คดีนี้ฟ้องก่อนพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มีผลใช้บังคับ จึงไม่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายดังกล่าว หมายจำคุกและกักขังเมื่อคดีถึงที่สุดออกชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า คดีของจำเลยที่ 2 ถึงที่สุดตั้งแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ให้จำเลยที่ 2 ฟังหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้เป็นคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2549 ก่อนวันที่พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มีผลใช้บังคับในวันที่ 13 กรกฎาคม 2551 และคดีมีการพิจารณาต่อมาจนถึงศาลฎีกา จึงเป็นคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลก่อนวันที่พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มีผลใช้บังคับ โดยมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดว่า บรรดาคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดซึ่งค้างพิจารณาอยู่ในศาลใดก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ศาลนั้นมีอำนาจพิจารณาพิพากษาต่อไป และให้บังคับตามกฎหมายซึ่งใช้อยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับจนกว่าคดีนั้นจะถึงที่สุด ดังนั้น คดีของจำเลยที่ 2 จึงต้องบังคับตามกฎหมายที่ใช้อยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 ใช้บังคับจนกว่าคดีจะถึงที่สุด โดยเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 147 วรรคหนึ่ง ที่กำหนดว่า คำพิพากษาหรือคำสั่งใดซึ่งตามกฎหมายจะอุทธรณ์หรือฎีกาหรือมีคำขอให้พิจารณาใหม่ไม่ได้นั้น ให้ถือว่าเป็นที่สุดตั้งแต่วันที่ได้อ่านเป็นต้นไป และวรรคสอง ที่กำหนดว่า คำพิพากษาหรือคำสั่งใด ซึ่งอาจอุทธรณ์ ฎีกา หรือมีคำขอให้พิจารณาใหม่ได้นั้น ถ้ามิได้อุทธรณ์ ฎีกาหรือร้องขอให้พิจารณาใหม่ภายในเวลาที่กำหนดไว้ ให้ถือว่าเป็นที่สุดตั้งแต่ระยะเวลาเช่นว่านั้นได้สิ้นสุดลง ซึ่งนำมาใช้ในคดีอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 มิใช่นำมาตรา 19 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวมาใช้บังคับโดยคดีได้ถึงที่สุดตั้งแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ให้จำเลยที่ 2 ฟังตามที่จำเลยที่ 2 ฎีกา เมื่อคดีนี้จำเลยที่ 2 ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้กระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน แม้ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เนื่องจากเป็นเรื่องที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 7 แต่ศาลฎีกายังคงวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน คดีของจำเลยที่ 2 จึงถึงที่สุดตั้งแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยที่ 2 ฟัง คือวันที่ 18 มกราคม 2556 ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาทำนองว่า คดีของจำเลยที่ 2 ต้องนำมาตรา 19 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวมาใช้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ที่ให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดนั้น เห็นว่า การที่จะนำบทบัญญัติของกฎหมายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 มาใช้บังคับในฐานกฎหมายที่เป็นคุณได้นั้น จะต้องเป็นกรณีที่นำมาใช้บังคับแก่ความรับผิดทางอาญาของผู้กระทำความผิดเท่านั้น มิได้นำมาใช้บังคับแก่กฎหมายวิธีสบัญญัติ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ 2 และศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืนมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน