โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ปลอมเอกสารสิทธิ โดยจำเลยลงลายมือชื่อของจำเลยในช่องผู้ให้สัญญาในสัญญามัดจำซื้อขายที่ดินเป็นชื่อนายไพศาล ทวีรักษากุล อันเป็นลายมือชื่อปลอม ทำให้นายเฉลิม ใจรักหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารสิทธิที่แท้จริง และจำเลยได้ใช้เอกสารปลอมดังกล่าวหลอกลวงในการฉ้อโกงทรัพย์นายเฉลิม ใจรัก โดยเจตนาทุจริตด้วยการปกปิดความจริงที่ว่านายไพศาล ทวีรักษากุล มิได้ลงลายมือชื่อในเอกสาร ทั้งนี้ โดยประการที่น่าจะเสียหายแก่นายเฉลิม ใจรัก และผู้อื่นที่ได้เกี่ยวข้องในการทำสัญญาดังกล่าว เป็นเหตุให้นายเฉลิม ใจรัก หลงเชื่อ และจำเลยได้ค่ามัดจำจากการทำสัญญานั้นเป็นเงิน 1,000 บาท ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265, 341, 342 และให้จำเลยคืนเงิน 1,000 บาทแก่ผู้เสียหายด้วย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นฟังว่า จำเลยกระทำผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิและฐานฉ้อโกง การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 ลงโทษจำคุก 1 ปี ให้จำเลยคืนเงิน 1,000 บาทให้แก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า จำเลยตกลงขายที่ดินให้แก่นายเฉลิม ใจรัก ผู้เสียหาย ในราคา 9,000 บาท ผู้เสียหายวางมัดจำ 1,000 บาท จำเลยเขียนสัญญารับมัดจำ จ.1 ระบุนายไพศาล ทวีรักษากุล สามีจำเลยเป็นผู้ให้สัญญา และเขียนชื่อนายไพศาล ทวีรักษากุล ลงในช่องลงชื่อผู้ให้สัญญาด้วย ต่อมาผู้เสียหายขอชำระราคาที่ดินที่ค้าง และให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ จำเลยและสามีไม่ยอมรับชำระ อ้างว่าล่วงเลยกำหนดเวลาชำระแล้วเป็นการผิดสัญญา จึงริบมัดจำ
ปัญหาว่าจำเลยจะมีความผิดตามฟ้องหรือไม่นั้น เห็นว่าลายมือชื่อนั้นไม่มีกฎหมายให้เซ็นแทนกันได้ ดังนั้น แม้จะมอบอำนาจก็จะเซ็นแทนไม่ได้ ที่จำเลยเซ็นชื่อสามีจำเลยลงในสัญญา จ.1 จึงเป็นการลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร แต่ในความผิดฐานปลอมเอกสารนั้นจะต้องได้ความด้วยว่าอยู่ในลักษณะที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนด้วย จึงจะเป็นความผิด เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้เสียหายรู้จักชื่อและตัวเจ้าของที่ดินตลอดจนจำเลยซึ่งเป็นภรรยาเจ้าของที่ดินอยู่แล้ว และรู้เห็นว่าจำเลยลงชื่อสามีจำเลยในช่องผู้ให้สัญญาตอนทำสัญญานั้นจากพฤติการณ์ดังกล่าว ผู้เสียหาย จึงมิได้หลงผิดหรือหลงเชื่อ ไม่อยู่ในฐานะที่จะอ้างว่าได้รับความเสียหายตามกฎหมาย จำเลยจึงไม่มีความผิด
พิพากษายืน