โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงิน 852,900.81 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 804,000 บาท นับถัดวันฟ้องจนกว่าจะชำระแก่โจทก์เสร็จสิ้น
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษา ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 852,900.81 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 804,000 บาท นับแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2546 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองที่ร่วมกันตัดต้นยูคาลิปตัสของโจทก์ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินของจำเลยที่ 1 อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ยืนยันว่าได้เช่าที่ดินกับนายลออโดยเข้าใจว่าเป็นที่ดินของนายลออตามสัญญาเช่า แต่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินก็เบิกความว่า ให้นางบุญศรีดูแลที่ดินและปลูกต้นยูคาลิปตัสด้วย จำเลยที่ 1 ไม่เคยให้นายลออและโจทก์เช่าที่ดินดังกล่าว ทั้งจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 ตัดต้นยูคาลิปตัสของจำเลยที่ 1 เอง แม้นางบุญศรีจะเคยให้การไว้ต่อพันตำรวจโทสมศักดิ์พนักงานสอบสวนว่า นางบุญศรีได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 1 ให้ดูแลที่ดินและต่อมานางบุญศรีได้มอบหมายให้นายลออดูแลที่ดินด้วยก็ตามก็เป็นการมอบหมายกันด้วยวาจาทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ยินยอมให้นางบุญศรีมอบหมายให้ผู้อื่นดูแลที่ดินแทนหรือหาผลประโยชน์แทนนางบุญศรีหรือแทนจำเลยที่ 1 การที่นางบุญศรีมอบให้นายลออช่วยดูแลที่ดินด้วย นายลออก็ไม่มีอำนาจนำที่ดินของจำเลยที่ 1 ไปให้โจทก์เช่า แม้โจทก์จะเชื่อโดยสุจริตขณะทำสัญญาเช่ากับนายลออว่าที่ดินที่เช่าเป็นของนายลออก็ตาม เมื่อนายลออไม่มีอำนาจนำที่ดินไปให้ผู้อื่นเช่า สัญญาเช่าดังกล่าวจึงไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 ที่จะยินยอมให้โจทก์เข้ามาปลูกต้นยูคาลิปตัสในที่ดินของจำเลยที่ 1 ได้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากจำเลยที่ 1 โจทก์จึงไม่มีอำนาจเข้ามาปลูกต้นยูคาลิปตัสในที่ดินของจำเลยที่ 1 เมื่อต้นยูคาลิปตัสถือได้ว่าเป็นไม้ยืนต้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 145 วรรคหนึ่ง จึงเป็นส่วนควบของที่ดินของจำเลยที่ 1 ดังนั้น จำเลยที่ 1 ย่อมมีกรรมสิทธิ์ในต้นยูคาลิปตัสนั้นด้วย เมื่อจำเลยทั้งสองตัดต้นยูคาลิปตัส การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ ดังนั้นโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองฐานละเมิดตัดต้นยูคาลิปตัสซึ่งเป็นส่วนควบของที่ดินจำเลยที่ 1 และตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 แล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น ฎีกาข้ออื่นไม่จำต้องวินิจฉัย และกรณีเป็นเรื่องเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ แม้จำเลยที่ 2 มิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 2 ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245 (1) ประกอบมาตรา 247
พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ