ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ได้ทำสัญญากู้เงินธนาคารกรุงเทพฯ จำกัดไป 300,000 บาท คิดดอกเบี้ยทบต้น เงินจำนวนนี้ผู้อื่นนำไปหมุนซื้อที่ดิน ซึ่งหลวงชำนาญเนติศาสตร์มีส่วนร่วมด้วย ต่อมาหลวงชำนาญ ฯ ได้ทำสัญญาประนีประนอมกับจำเลยที่ 1 โดยหลวงชำนาญ ฯยอมยกที่ดินหลายแปลงให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ยอมรับผิดชำระหนี้ซึ่งโจทก์เป็นลูกหนี้ธนาคารกรุงเทพ จำกัด ซึ่งขณะนั้นค้างอยู่ 367,564.86 บาท โดยจำเลยที่ 1 จะปลดหนี้นั้นให้เสร็จไป โจทก์แสดงเจตนารับประโยชน์ตามสัญญาระหว่างจำเลยที่ 1 กับหลวงชำนาญ ฯนี้แล้ว แต่ต่อมาจำเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญา ภายหลังจำเลยที่ 1 จึงโอนขายที่ดินให้โจทก์รับเงิน ที่ขายได้ไปชำระหนี้ธนาคาร 300,000 บาทแต่มิได้ชำระจำนวนที่ยังค้างอยู่ โจทก์ต้องทำสัญญากู้เงินจากธนาคารนั้นอีกครั้งโดยจำนองที่ดินแปลงหนึ่งเป็นประกัน เอาเงินที่กู้ใหม่นี้ใช้หนี้เดิม 164,251.55 บาท
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้เงิน 164,251.55 บาทนี้แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า คดีไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374, 375 ซึ่งจำเลยเห็นว่าบุคคลภายนอกเป็นผู้รับประโยชน์ คือ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด ซึ่งจะได้รับชำระหนี้ที่จำเลยที่ 1 รับภาระแทนโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้นเห็นว่า จำเลยที่ 1 นึกถึงแต่เพียงหนี้ระหว่างโจทก์กับธนาคารเท่านั้น จึงเข้าใจไปว่าธนาคารเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้รับประโยชน์จากสัญญา จ.2 (ที่หลวงชำนาญ ฯ กับจำเลยที่ 1 ทำกันไว้) แต่ที่จริงสัญญา จ.2ก่อให้เกิดหนี้ขึ้นอีกอันหนึ่งระหว่างหลวงชำนาญ ฯ กับจำเลยที่ 1 ซึ่งมีวัตถุแห่งหนี้เป็นการกระทำอันหนึ่ง คือ จำเลยที่ จะชำระหนี้ระหว่างโจทก์กับธนาคารแทนโจทก์ หนี้ตามสัญญาหมาย จ.2 นี้ โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ คือ จำเลยที่ 1 จะชำระหนี้แทนโจทก์จึงเป็นบุคคลภายนอกที่จะได้รับประโยชน์จากการชำระหนี้ตามสัญญาระหว่างหลวงชำนาญ ฯ กับจำเลยที่ 1 ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยชอบแล้ว(ว่าข้ออ้างของจำเลยตกไป) ผลที่สุด ศาลฎีกาพิพากษายืน