ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจศาลในคดีเยาวชน: การพิจารณาโทษและการแก้ไขคำพิพากษาเมื่อศาลเดิมไม่ใช่ศาลเยาวชน
แม้ขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 5 มีอายุ 15 ปีเศษ ถือเป็นเยาวชนก็ตาม แต่ขณะกระทำความผิดและวันที่โจทก์ยื่นฟ้องในวันที่ 7 เมษายน 2547 ในท้องที่จังหวัดพิจิตรที่จำเลยที่ 5 มีถิ่นที่อยู่ปกติและท้องที่ที่กระทำความผิดยังไม่มีศาลเยาวชนและครอบครัว ศาลชั้นต้นคือศาลจังหวัดพิจิตรเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีธรรมดาตาม ป.วิ.อ. จึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 58 (3) แม้ต่อมาในระหว่างพิจารณาคดีของศาลอุทธรณ์ภาค 6 มีพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเปิดทำการแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลจังหวัดพิจิตรตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคม 2549 ก็ตาม แต่การพิจารณาพิพากษาคดีในชั้นอุทธรณ์จนชั้นฎีกาต้องเป็นไปตาม ป.วิ.อ. ดังนั้นคำพิพากษาศาลฎีกาที่ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 5 มีกำหนด 21 ปี 3 เดือน จึงเป็นคำพิพากษาของศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีธรรมดาตาม ป.วิ.อ. มิใช่คำพิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวที่จะขอให้กำหนดโทษใหม่หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาเกี่ยวกับการลงโทษตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 99 ต่อมา พ.ร.บ.ดังกล่าวถูกยกเลิกไป โดย พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 3 แม้มาตรา 137 แห่ง พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 บัญญัติว่า เมื่อได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ลงโทษหรือใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนแล้วและต่อมาความปรากฏต่อศาลเอง หรือปรากฏจากรายงานของผู้อำนวยการสถานพินิจ หรือผู้ดูแลหรือผู้ปกครองสถานที่ที่กำหนดไว้ในหมวด 4 หรือปรากฏจากคำร้องของบิดา มารดา ผู้ปกครองหรือบุคคลซึ่งเด็กหรือเยาวชนอาศัยอยู่ด้วย หรือสถานที่ที่กำหนดไว้ในหมวด 4 ว่าข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์ตามมาตรา 115 หรือมาตรา 119 ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ให้ศาลมีอำนาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาหรือคำสั่งเกี่ยวกับการลงโทษหรือวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนได้ก็ตาม แต่คำพิพากษาหรือคำสั่งให้ลงโทษหรือใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนดังกล่าวต้องเป็นคำพิพากษาหรือคำสั่งโดยศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวตั้งแต่ต้น และศาลที่มีอำนาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาหรือคำสั่งเกี่ยวกับการลงโทษหรือวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน จะต้องเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวซึ่งพิพากษาหรือมีคำสั่งคดีนั้นเอง หรือศาลคดีเยาวชนและครอบครัวซึ่งมีเขตอำนาจในท้องที่ที่เด็กหรือเยาวชนนั้นกำลังรับโทษหรือถูกควบคุมตัวอยู่ ด้วยเหตุนี้ ศาลจังหวัดพิจิตรซึ่งเป็นศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ภาค 6 และศาลฎีกาไม่ใช่ศาลเยาวชนและครอบครัวหรือศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว จึงไม่ใช่ศาลที่มีอำนาจเปลี่ยนแปลงโทษตามคำพิพากษาอันถึงที่สุดแล้วของจำเลยที่ 5 ตามบทบัญญัติดังกล่าวได้ และมิใช่กรณีกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ภายหลังการกระทำความผิดที่ศาลจะต้องกำหนดโทษเสียใหม่ตาม ป.อ. มาตรา 3 (1)