โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 310, 310 ทวิ, 313, 337, 340, 340 ตรี ให้จำเลยกับพวกร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนเป็นเงิน 109,500 บาท แก่ผู้เสียหาย และขอให้นับโทษของจำเลยต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 916/2545 ของศาลแขวงพระนครเหนือ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 วรรคแรก, 313 (2) (3) วรรคแรก, 337 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานเอาตัวบุคคลอายุกว่าสิบห้าปีไปโดยใช้กำลังประทุษร้าย หน่วงเหนี่ยวกักขังเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่อันเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 แต่จำเลยจัดให้ผู้เสียหายที่ถูกเอาตัวไป ผู้ถูกหน่วงเหนี่ยวหรือผู้ถูกกักขังได้รับเสรีภาพก่อนศาลชั้นต้นพิพากษา โดยผู้เสียหายมิได้รับอันตรายสาหัสหรือตกอยู่ในภาวะอันใกล้จะเป็นอันตรายต่อชีวิต จึงให้ลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 316 จำคุก 7 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องในความผิดฐานกรรโชกอีกข้อหาหนึ่งด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุนายอัครพงษ์ ผู้เสียหาย ทำธุรกิจสถานกวดวิชาสอบเข้ารับราชการที่สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี จำเลยเป็นอาจารย์สอนวิชาภาษาอังกฤษ วันที่ 1 สิงหาคม 2544 ผู้เสียหายร้องทุกข์ต่อพันตำรวจตรีวันชัย พนักงานสอบสวนกล่าวหาจำเลยกับพวกกระทำผิดคดีนี้ ต่อมาวันที่ 30 พฤษภาคม 2545 จำเลยเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน ชั้นสอบสวนจำเลยให้การปฏิเสธ คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และจำเลยประการแรกว่า ฟ้องโจทก์ในความผิดฐานกรรโชกทรัพย์นางสาวอุไร นั้น สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) หรือไม่นั้น เห็นสมควรวินิจฉัยก่อนว่าฟ้องโจทก์ในความผิดฐานดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อันเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ปัญหานี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 วรรคแรก บัญญัติว่า ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่น ให้ยอมให้ หรือยอมจะให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินโดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือโดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้ถูกขู่เข็ญหรือของบุคคลที่สามจนผู้ถูกข่มขืนใจยอมเช่นว่านั้น องค์ประกอบอันจะเป็นความผิดตามมาตรานี้ จะต้องใช้กำลังประทุษร้ายหรือโดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้ถูกขู่เข็ญ หรือของบุคคลที่สาม จนผู้ถูกข่มขืนใจยอมเช่นว่านั้น แต่ตามฟ้องข้อ ค. บรรยายว่า จำเลยกับพวกร่วมกันใช้อุบายข่มขืนใจนางสาวอุไรให้ยอมให้หรือยอมจะให้จำเลยกับพวกได้รับเงินจำนวน 80,000 บาท อันเป็นประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน โดยจำเลยกับพวกขู่เข็ญ แจ้งเท็จกับนางสาวอุไรว่าผู้เสียหายถูกเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาลดอนเมือง จับไปไม่ทราบข้อหา หากมีเงินสองแสนบาทจะเอาไปประกันตัวผู้เสียหายที่สถานีตำรวจนครบาลดอนเมือง และบอกว่าจะช่วยเต็มที่ เป็นเหตุให้นางสาวอุไรหลงเชื่อและเกิดความกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อร่างกาย เสรีภาพ และชื่อเสียงของผู้เสียหายยอมมอบเงิน 80,000 บาท ให้แก่จำเลยกับพวก ซึ่งคำบรรยายฟ้องดังกล่าวได้บรรยายถึงองค์ประกอบของการกระทำอันจะเป็นความผิดว่า ผู้เสียหายถูกเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาลดอนเมืองจับไปไม่ทราบข้อหา หากมีเงินสองแสนบาทจะเอาไปประกันตัวผู้เสียหายที่สถานีตำรวจนครบาลดอนเมือง จึงเห็นได้ชัดเจนว่า การที่บอกว่าผู้เสียหายถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมไป ย่อมไม่ใช่คำพูดที่เป็นการขู่เข็ญหรือข่มขู่ว่าจะทำอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สิน ทั้งไม่ใช่ใช้กำลังประทุษร้าย คำบอกกล่าวดังกล่าวก็บอกด้วยว่าหากมีเงินก็จะเอาไปประกันตัวผู้เสียหาย ซึ่งมีความหมายอยู่ในตัวเองว่าถ้าไม่มีเงินก็คงไม่ได้ไปประกันตัวผู้เสียหาย การที่ผู้เสียหายถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมก็เป็นเรื่องของกฎหมายเป็นอำนาจของเจ้าพนักงานตำรวจที่จะดำเนินการตามกฎหมาย การจะไปขอประกันตัวผู้ต้องหาหรือเจ้าพนักงานตำรวจให้ประกันผู้ต้องหาก็ต้องเป็นไปตามกฎหมาย ที่เจ้าพนักงานตำรวจจะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย จึงไม่ใช่การข่มขู่หรือเป็นการขู่เข็ญคำบรรยายฟ้องของโจทก์จึงขาดองค์ประกอบของการกระทำอันจะเป็นความผิดตามมาตรา 337 วรรคแรก ได้ จึงไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของโจทก์และจำเลยในข้อนี้อีก ศาลฎีกาเห็นด้วยกับผลของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และจำเลยประการต่อไปว่า จำเลยกระทำความผิดฐานร่วมกับพวกคนร้ายเอาตัวผู้เสียหายไปหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังเพื่อให้ได้ค่าไถ่ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ พยานโจทก์จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยร่วมกับคนร้ายกระทำความผิดดังที่ศาลอุทธรณ์พิพากษา ไม่จำต้องวินิจฉัยพยานจำเลย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องของโจทก์เสียทั้งหมด