โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91, 289, 295, 309, 310, 364, 365
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 ประกอบด้วยมาตรา 364, 83 ลงโทษจำคุก 2 ปี กระทงหนึ่ง มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 309 วรรคสอง, 310 วรรคแรก, 83 ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด (ที่ถูก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90) ลงโทษจำคุก 3 ปี กระทงหนึ่ง มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 จำคุก 6 เดือน กระทงหนึ่ง และมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 ลงโทษประหารชีวิตอีกกระทงหนึ่ง (ที่ถูก การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ) รวมทุกกระทงแล้ว คงลงโทษประหารชีวิต ข้อนำสืบของจำเลยเป็นการให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม (ที่ถูกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (1)) คงจำคุกตลอดชีวิต
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ในความผิดฐานร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดตามฟ้อง จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคสอง ประกอบมาตรา 80, 83ฐานร่วมกันพยายามข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ โดยมีอาวุธหรือโดยร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป เป็นกรรมเดียวกับความผิดตามมาตรา 310 วรรคหนึ่ง ลงโทษตามมาตรา 309 วรรคสอง ประกอบมาตรา 80, 83 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 4 เดือน เมื่อรวมกับโทษจำคุก 6 เดือน และโทษจำคุกตลอดชีวิตตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นอีกสองกระทง เป็นจำคุกตลอดชีวิต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) ให้ยกฟ้องโจทก์ฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 364, 365 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คำเบิกความของผู้เสียหายและนางวาสนาซึ่งศาลชั้นต้นให้สืบพยานไว้ก่อนในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 895/2546 ของศาลชั้นต้น ซึ่งพวกของจำเลยคือนายเอกชัยบุตรจำเลย นายสมศักดิ์หลานเขยจำเลย นายพิชิตพล และนายพัฒนพงศ์ซึ่งร่วมกระทำความผิดกับจำเลยในคดีนี้ถูกฟ้องเป็นจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ในคดีดังกล่าว คดีนี้และคดีดังกล่าวจึงเป็นคดีเดียวกัน แต่ที่พนักงานอัยการต้องแยกฟ้องเป็น 2 คดี เนื่องจากจับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ได้ก่อน ส่วนจำเลยเพิ่งจับได้ในภายหลังเพราะจำเลยหลบหนี ดังนั้น ศาลจึงรับฟังคำเบิกความของผู้เสียหายและนางวาสนาที่ได้เบิกความไว้ในคดีดังกล่าว ในการพิจารณาคดีนี้ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 237 ทวิ วรรคห้า
พิพากษายืน