โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับนายจวนซึ่งศาลลงโทษไปแล้ว สมคบกันชิงทรัพย์นางหน๊ะ กับนายสุทิศ รวม ๕,๓๐๗.๕๐ บาท ขอให้ลงโทษตาม ก.ม. ลักษณะอาญาม.๒๙๘,๖๓ ประมวล ก.ม. ลักษณะอาญา ม.๓๓๙,๘๓,๘๙. และขอให้คืนหรือใช้ทรัพย์ที่ยังขาด ๕,๒๕๗.๕๐ บาท.
จำเลยปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นเห็นว่า พฤติการณ์ของจำเลยแสดงว่าสมรู้เป็นใจให้นายจวนทำการชิงทรัพย์ ซึ่งศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยฐานสมรู้ได้ พิพากษาว่า จำเลยผิด ก.ม. ลักษณะอาญา ม.๒๘๙ ประมวล ก.ม. อาญา ม.๓๑ แต่ให้ลงโทษตาม ก.ม. ลักษณะอาญา ๒๙๔ จำคุก ๔ ปี ลดฐานสมรู้ ๑ ใน ๓ ตาม ม.๖๕ คงจำคุก ๒ ปี ๘ เดือน และให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ ๕,๒๕๗.๕๐ บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์สงสัยคำพยานโจทก์ พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังว่า ตามพฤติการณ์ของจำเลยที่ชักชวนนางหน๊ะ เจ้าทรัพย์ให้นำเครื่องทองรูปพรรณไปขายที่บ้านจำเลยโดยหลอกลวงว่าจะมีคนซื้อแล้วจำเลยก็นำไป ครั้นถึงที่เปลี่ยว จำเลยหลบหน้าเสีย ปล่อยให้นายจวนทำการชิงทรัพย์นางหน๊ะ เช่นนี้เห็นได้ว่าจำเลยวางแผนการชิงทรัพย์มาตั้งแต่แรกที่เดียว จำเลยจึงต้องมีความผิด ที่ศาลขั้นต้นลงโทษจำเลยเพียงฐานสมรู้ในการชิงทรัพย์ โจทก์มิได้อุทธรณ์ก็เป็นผลดีแต่จำเลยแล้ว
พิพากษากลับศาลอุทธรณ์ ให้ลงโทษจำเลยตามศาลชั้นต้นโดยให้ร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ เว้นแต่บทความผิดฐานสมรู้นั้นให้ใช้ประมวลกฎหมายอาญา ม.๓๓๙ และ ๘๒ เพราะเป็นบทกฎหมายที่เป็นคุณแก่จำเลย