โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ขับขี่รถจักรยานยนต์ตามรถยนต์ซึ่งจำเลยเป็นผู้ขับไปตามถนนสนามม้า ครั้นถึงทางแยกเข้าคณะรัฐศาสตร์ จำเลยได้ขับรถเลี้ยวขวาเพื่อเข้าทางแยกนั้นโดยไม่ให้สัญญาณเลี้ยว ทำให้โจทก์หยุดรถไม่ทัน ชนรถยนต์จำเลยโดยแรง โจทก์กระเด็นจากรถได้รับบาดเจ็บสาหัส เหตุเพราะจำเลยขับรถโดยประมาทด้วยความเร็วปราศจากความระมัดระวัง เลี้ยวรถโดยไม่ดูกระจกหลังก่อน ผิดพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2477 มาตรา 9, 29(4), 31(2) ทำให้รถชนกัน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300
จำเลยให้การปฏิเสธต่อสู้ว่าเป็นความผิดของโจทก์เอง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์เป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า จำเลยประมาทเพราะมิได้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2477 มาตรา 9 วรรค 3
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า บทบัญญัติมาตรา 9 วรรค 3 ดังกล่าวนั้นบัญญัติว่า "ในทางที่ไม่ใช่ทางแยก ห้ามไม่ให้เลี้ยวตัดหน้ารถยนต์หรือรถรางที่กำลังแล่นภายในระยะน้อยกว่า 15 เมตร" หมายถึงการขับรถเลี้ยวตัดหน้ารถอื่นที่กำลังแล่นสวนทางมาในระยะน้อยกว่า 15 เมตร หาใช่หมายถึงกรณีที่รถแล่นตาม ๆ กันมาดังเช่นที่ได้ความในคดีนี้ไม่ เพราะรถที่แล่นสวนกันกับแล่นตามกันมานั้น โอกาสที่จะชนกันเนื่องจากการเลี้ยวต่างกันมาก กล่าวคือ รถที่แล่นสวนกันนั้นต่างก็ย่นระยะทางเข้าประชิดกัน ส่วนรถที่แล่นตามกันมาอาจเป็นการยืดระยะทางห่างกันออกไปก็ได้ ฉะนั้น ถ้ามีกำหนดระยะการเลี้ยวก็น่าจะกำหนดระยะไว้แตกต่างกัน ประกอบกับผู้ขับรถสวนกันย่อมเห็นรถที่แล่นสวนมาโดยจะแจ้งส่วนรถที่ขับตามกันมา คนขับรถคันหน้าอาจไม่เห็นรถที่ขับตามหลังก็ได้ ศาลชั้นต้นฟังว่า โจทก์ขับรถตามหลังรถจำเลยห่างกันประมาณ7-8 เมตร จำเลยให้สัญญาณเลี้ยวขวาและได้ชลอความเร็วลงแล้วเบนหัวเลี้ยวขวา โจทก์กลับหักรถไปทางขา จึงชนรถจำเลยกลางคัน จะถือว่าจำเลยเลี้ยวตัดหน้าฝ่าฝืนกฎหมายที่โจทก์ฎีกามาหาได้ไม่
พิพากษายืน