โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91, 93, 335, 336 ทวิ, 358, 381 ริบใบเลื่อยเหล็กของกลาง และเพิ่มโทษจำเลยทั้งสาม
จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) (7) วรรคสอง ประกอบมาตรา 336 ทวิ, 358, 381, 83 การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์และฐานร่วมกันฆ่าสัตว์โดยให้ได้รับทุกขเวทนาอันไม่จำเป็นเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานทำให้เสียทรัพย์อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 3 ปี ฐานร่วมกันลักทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะ (ที่ถูก ฐานร่วมกันลักทรัพย์ในเวลากลางคืนโดยใช้ยานพาหนะ) จำคุกคนละ 9 ปี รวมจำคุกคนละ 12 ปี เพิ่มโทษกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 93 เป็นจำคุกคนละ 18 ปี จำเลยทั้งสามกระทำความผิดอันเป็นการกระทำทารุณโหดร้ายต่อช้างซึ่งเป็นสัตว์พาหนะขนาดใหญ่ที่ต้องร่วมกันอนุรักษ์ไว้ไม่ให้สูญพันธุ์โดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย แม้ให้การรับสารภาพ ก็ไม่เห็นควรลดโทษให้ ริบใบเลื่อยเหล็กของกลาง
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ให้ความร่วมมือกับเจ้าพนักงานตำรวจ ตามพฤติการณ์แห่งคดีย่อมต้องด้วยเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่ลดโทษให้แก่จำเลยที่ 1 จึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 เป็นบทบัญญัติในการใช้ดุลพินิจในการลงโทษให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์ของผู้กระทำความผิดเป็นรายบุคคลไป หาใช่บทบังคับที่พึงจะต้องลดโทษให้แก่ผู้กระทำความผิดเพราะมีเหตุบรรเทาโทษเสมอไปดังฎีกาของจำเลยที่ 1 ไม่ การที่จำเลยที่ 1 กับพวกนำยาแลนเนต (ยาฆ่าแมลง) ใส่ในผลมะละกอให้ช้างกินเพื่อให้ช้างได้รับสารพิษ และขณะที่ช้างยังไม่ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันใช้เลื่อยเหล็กตัดงาของช้าง เป็นการกระทำที่อุกอาจไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมายบ้านเมือง โหดเหี้ยมทารุณไร้มนุษยธรรม ก่อให้เกิดผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม พฤติการณ์แห่งคดีจึงเป็นเรื่องร้ายแรง แม้จำเลยที่ 1 มีเหตุบรรเทาโทษตามที่กล่าวอ้างในฎีกาเพียงใด ก็ไม่เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะลดโทษให้แก่จำเลยที่ 1 ที่ศาลล่างทั้งสองไม่ลดโทษให้แก่จำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ย่อมเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม การที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า ความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ในเวลากลางคืนโดยใช้ยานพาหนะเป็นความผิดคนละกรรมกับความผิดฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์และฐานร่วมกันฆ่าสัตว์โดยให้ได้รับทุกขเวทนาอันไม่จำเป็นนั้น เห็นว่า การที่จำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำการทารุณและฆ่าช้าง แล้วร่วมกันใช้เลื่อยเหล็กตัดงาช้างดังกล่าว โดยมุ่งประสงค์เพื่อลักเอางาช้างเป็นสำคัญ การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) (7) วรรคสอง ประกอบมาตรา 336 ทวิ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดเพียงบทเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 หาใช่เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตามที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษมาไม่ แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ได้ฎีกาในประเด็นดังกล่าวขึ้นมาก็ตาม แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นมาวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225 และมีอำนาจวินิจฉัยตลอดไปถึงจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งไม่ได้ฎีกาขึ้นมาด้วย เนื่องจากเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบด้วยมาตรา 225 ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานร่วมกันลักทรัพย์ในเวลากลางคืนโดยใช้ยานพาหนะ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) (7) วรรคสอง ประกอบมาตรา 336 ทวิ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 9 ปี เพิ่มโทษกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 93 เป็นจำคุกคนละ 13 ปี 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1