คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นสั่งรวมการพิจารณา โดยให้เรียกนางปภาดา ซึ่งเป็นผู้คัดค้านที่ 1 ทั้งสองสำนวนว่า ผู้คัดค้านที่ 1 นายธฤษพล ซึ่งเป็นผู้คัดค้านที่ 2 ในสำนวนหลังว่า ผู้คัดค้านที่ 2 นายคิมหันต์ ซึ่งเป็นผู้คัดค้านที่ 2 ในสำนวนแรกและเป็นผู้คัดค้านที่ 3 ในสำนวนหลังว่า ผู้คัดค้านที่ 3 นางสาวณฐกานต์ ซึ่งเป็นผู้คัดค้านที่ 3 ในสำนวนแรกว่า ผู้คัดค้านที่ 4 นายสุกิจ ซึ่งเป็นผู้คัดค้านที่ 4 ในสำนวนแรกว่า ผู้คัดค้านที่ 5 นายภักดีกุล ซึ่งเป็นผู้คัดค้านที่ 5 ในสำนวนแรกว่า ผู้คัดค้านที่ 6 ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้คัดค้านที่ 4 ในสำนวนหลังว่า ผู้คัดค้านที่ 7
สำนวนแรกผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งให้ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดรายนายโสรสและผู้คัดค้านที่ 1 กับพวก ตามบัญชีรายการทรัพย์สินเอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 24 คือ เงินฝากในบัญชีธนาคารและที่ดินตามโฉนดที่ดิน รวม 32 รายการ มูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 18,455,928.21 บาท พร้อมดอกผล ตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51
ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนและประกาศตามกฎหมายแล้ว
ผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง และให้คืนทรัพย์สินทั้งหมดแก่ผู้คัดค้านที่ 1
ผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องและให้มีคำสั่งถอนอายัดทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 ทั้งหมดพร้อมทั้งเอกสารต่าง ๆ โดยเฉพาะเงินเก็บสะสมของบุตรสาวของผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 ที่ได้เก็บไว้ในกล่องเก็บเงินสะสมจำนวน 9,000 บาท
ผู้คัดค้านที่ 5 ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องในส่วนของผู้คัดค้านที่ 5 และให้คืนทรัพย์สินทั้งหมดแก่ผู้คัดค้านที่ 5
ผู้คัดค้านที่ 6 ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องในส่วนที่เกี่ยวกับทรัพย์สินอันเป็นกรรมสิทธิ์รวมของผู้คัดค้านที่ 6 และให้คืนทรัพย์สินดังกล่าวแก่ผู้คัดค้านที่ 6
สำนวนหลังผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งให้ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดรายนายโสรสและผู้คัดค้านที่ 1 กับพวก ตามบัญชีรายการทรัพย์สินเอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 7 คือ เงินสดและที่ดินตามโฉนดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง รวม 15 รายการ มูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 13,349,274.20 บาท พร้อมดอกผล ตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51
ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนและประกาศตามกฎหมายแล้ว
ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำคัดค้านเพิ่มเติมจากที่ผู้คัดค้านที่ 1 ได้ยื่นคำคัดค้านไว้ในสำนวนแรกว่า ขอให้ยกคำร้องและให้คืนทรัพย์สินทั้งหมดแก่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2
ผู้คัดค้านที่ 3 ยื่นคำคัดค้านทำนองเดียวกับที่เคยยื่นคำคัดค้านในสำนวนแรกขอให้ยกคำร้องและให้มีคำสั่งถอนอายัดทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 3 ทั้งหมดพร้อมทั้งเอกสารต่าง ๆ โดยเฉพาะเงินเก็บสะสมของบุตรสาวของผู้คัดค้านที่ 3 ที่ได้เก็บไว้ในกล่องเก็บเงินสะสมจำนวน 9,000 บาท
ผู้คัดค้านที่ 7 ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องและมีคำสั่งให้ผู้คัดค้านที่ 7 ดำเนินการบังคับคดีเอาแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 31543 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง และที่ดินโฉนดเลขที่ 43833, 48120, 48121 พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 7 จนครบถ้วน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ทรัพย์สินจำนวน 32 รายการ ตามบัญชีรายการทรัพย์สินส่งให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินรายนายโสรส และผู้คัดค้านที่ 1 กับพวก ในสำนวนแรก และทรัพย์สินจำนวน 15 รายการ ตามบัญชีรายการทรัพย์สินส่งให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินรายนายโสรสและผู้คัดค้านที่ 1 กับพวก ในสำนวนหลัง พร้อมดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินที่เกิดมีขึ้นตกเป็นของแผ่นดินตามมาตรา 51 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 สำหรับทรัพย์สินรายการที่ 7 ถึงรายการที่ 9 ในสำนวนหลัง ให้นำออกขายทอดตลาดโดยปลอดจำนอง แล้วนำเงินที่ได้จากการขายทรัพย์สินรายการที่ 7 ถึงรายการที่ 9 ชำระหนี้จำนองพร้อมดอกเบี้ยไม่เกินอัตราสูงสุดตามประกาศของธนาคารที่มีผลบังคับในระหว่างนั้นให้แก่ผู้คัดค้านที่ 7 โดยดอกเบี้ยให้คิดถึงวันขายทอดตลาดทรัพย์ได้เท่านั้น ส่วนที่เหลือ (หากมี) ให้ตกเป็นของแผ่นดิน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองสำนวนให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 6 อุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงแก่ความตาย นายธฤษพล ผู้คัดค้านที่ 2 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาต
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้คืนที่ดินโฉนดเลขที่ 31543 แก่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 และให้ยกคำร้องของผู้ร้องในส่วนของผู้คัดค้านที่ 3 ถึงที่ 6 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ทั้งสองสำนวนให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งของศาลชั้นต้น
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่รับฟังเป็นยุติในชั้นฎีกาโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งกันรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2554 เจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นเรือนนอนของผู้ต้องขังเรือนจำกลางเขาบินพบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของนายโสรส ผู้ต้องขังในคดียาเสพติด จากนั้นได้สอบสวนขยายผลพบว่านางดวงใจ พี่สาวของนางสาวหนึ่งฤทัยภริยาของนายโสรสโอนเงินให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 จำนวน 800,000 บาท และจากการตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินของผู้คัดค้านที่ 1 กับบุคคลที่เกี่ยวข้องพบว่ามีการโอนเงินระหว่างผู้คัดค้านที่ 1 ผู้คัดค้านที่ 3 และผู้คัดค้านที่ 5 และยังพบว่าบุคคลทั้งสามมีการทำธุรกรรมกับผู้ถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับยาเสพติด ผู้คัดค้านที่ 1 ประกอบอาชีพค้าขายสินค้าประเภทผลไม้ ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นบุตรบุญธรรมของผู้คัดค้านที่ 1 เมื่อประมาณปี 2553 ผู้คัดค้านที่ 1 ได้จดทะเบียนเลิกห้างหุ้นส่วนจำกัดปภาดา พืชมงคล และจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดมงคล เฟรช ฟรุ๊ต ประกอบกิจการนำเข้าและส่งออกพืชผล ผลไม้การเกษตร มีหุ้นส่วน 4 คน คือ ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 นางพัชรินทร์ และนายกันตชาติ โดยผู้คัดค้านที่ 1 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 อยู่กินฉันสามีภริยาตั้งแต่ปี 2541 ผู้คัดค้านที่ 3 จดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดคิมหันต์อิมปอร์ต เอ็กซ์ปอร์ต ส่วนผู้คัดค้านที่ 5 จบการศึกษาเมื่อปี 2541 และได้รับช่วงต่อการค้าขายผลไม้ของบิดามารดา เมื่อปี 2543 จดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดชอุ้ม ผลสมบูรณ์ นำเข้าผลไม้จากสาธารณรัฐประชาชนจีน ต่อมาปี 2545 ได้จดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดวอนสร้อย ผลสมบูรณ์ ส่งออกผลไม้ ยางพารา และชิ้นส่วนไก่แช่แข็งไปยังต่างประเทศ ผู้คัดค้านที่ 3 ไม่รู้จักผู้คัดค้านที่ 1 แต่จากการตรวจสอบการทำธุรกรรมของผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ระหว่างปี 2553 ถึง 2556 ปรากฏรายการทำธุรกรรมที่ผู้คัดค้านที่ 1 โอนเงินมายังบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้คัดค้านที่ 3 จำนวน 5 ครั้ง เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2554 จำนวน 706,500 บาท เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2555 จำนวน 1,200,000 บาท เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2555 จำนวน 931,950 บาท เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2555 จำนวน 1,490,000 บาท และเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2556 จำนวน 700,000 บาท รวมเป็นเงิน 5,028,450 บาท ส่วนผู้คัดค้านที่ 3 และผู้คัดค้านที่ 5 รู้จักกัน โดยเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2555 ผู้คัดค้านที่ 5 โอนเงินให้ผู้คัดค้านที่ 3 จำนวน 974,000 บาท เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2557 ผู้คัดค้านที่ 3 โอนเงินให้ผู้คัดค้านที่ 5 จำนวน 2,064,000 บาท เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2557 ผู้คัดค้านที่ 5 โอนเงินให้ผู้คัดค้านที่ 3 จำนวน 700,000 บาท และเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2557 ผู้คัดค้านที่ 5 โอนเงินให้ผู้คัดค้านที่ 3 จำนวน 1,000,000 บาท ผู้คัดค้านที่ 1 กับผู้คัดค้านที่ 5 รู้จักกัน โดยผู้คัดค้านที่ 5 โอนเงินให้ผู้คัดค้านที่ 1 จำนวน 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2555 จำนวน 960,000 บาท และเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2555 จำนวน 785,000 บาท นายชยานันท์ ซึ่งถูกศาลจังหวัดเชียงรายพิพากษาว่ากระทำความผิดฐานมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายยาเสพติดให้โทษ (เมทแอมเฟตามีน) จำคุก 3 ปี 9 เดือน โอนเงินเข้าบัญชีผู้คัดค้านที่ 5 จำนวน 4 ครั้ง เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2556 จำนวน 1,050,500 บาท เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2556 จำนวน 1,788,672 บาท เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2556 จำนวน 1,400,000 บาท และเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2556 จำนวน 1,850,000 บาท นางจันทร์คำ ผู้ต้องหาคดีอาญาที่ 157/2557 ข้อหาสมคบกันค้ายาเสพติดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 ของสถานีตำรวจภูธรแสวงหา จังหวัดอ่างทอง โอนเงินเข้าบัญชีผู้คัดค้านที่ 3 จำนวน 3 ครั้ง เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2555 จำนวน 1,900,000 บาท เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2555 จำนวน 962,000 บาท และเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2555 จำนวน 980,000 บาท MS. KHANKHAM THAMMAVONG สัญชาติลาวโอนเงินให้ผู้คัดค้านที่ 3 จำนวน 8 ครั้ง ระหว่างวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2556 ถึงวันที่ 4 มีนาคม 2556 รวมเป็นเงิน 40,914,782 บาท นางสาวดวงใจ ผู้ต้องหาคดีอาญาที่ 47/2557 ของสถานีตำรวจภูธรเมืองราชบุรี ความผิดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 โอนเงินเข้าบัญชีผู้คัดค้านที่ 1 จำนวน 800,000 บาท เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2554 ผู้คัดค้านที่ 1 โอนเงินเข้าบัญชีนายสมพันธ์ ระหว่างเดือนกันยายน 2554 ถึงเดือนกันยายน 2556 จำนวน 17 ครั้ง เป็นเงิน 30,407,460 บาท โดยนายสมพันธ์เป็นผู้ต้องหาความผิดฐานร่วมกันฟอกเงินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 นางสาวชนากานต์ โอนเงินเข้าบัญชีผู้คัดค้านที่ 1 ระหว่างเดือนพฤษภาคม 2556 ถึงเดือนกันยายน 2556 จำนวน 30 ครั้ง รวมเป็นเงิน 27,650,000 บาท โดยนางสาวชนากานต์เป็นผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลอาญาธนบุรีในข้อหาเกี่ยวกับยาเสพติด ผู้คัดค้านที่ 1 โอนเงินเข้าบัญชีนางมณี 1 ครั้ง เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2555 เป็นเงิน 1,501,020 บาท โดยนางมณีเป็นผู้ต้องหาความผิดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 ผู้คัดค้านที่ 1 โอนเงินเข้าบัญชีนางสาวธัญลักษณ์ จำนวน 1,200,000 บาท โดยนางสาวธัญลักษณ์ถูกดำเนินคดีข้อหาสนับสนุนช่วยเหลือผู้ค้ายาเสพติดตามคดีอาญาที่ 1073/2556
ในส่วนของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้เกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และเงินในบัญชีเงินฝากธนาคารทรัพย์สินรายการที่ 1 ถึงที่ 6 ในสำนวนแรก และที่ดินตามโฉนดที่ดินทรัพย์สินรายการที่ 7 ถึงที่ 9 ในสำนวนหลัง เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด คงมีเฉพาะที่ดินโฉนดเลขที่ 31543 ทรัพย์สินรายการที่ 6 ไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด และศาลอุทธรณ์พิพากษาให้คืนทรัพย์สินรายการที่ 6 นี้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ส่วนทรัพย์สินรายการอื่นให้ตกเป็นของแผ่นดิน ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ไม่ฎีกา ข้อเท็จจริงในส่วนของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 จึงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ สำหรับผู้คัดค้านที่ 7 นั้น ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าผู้คัดค้านที่ 7 เป็นผู้รับจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 43833, 48120 และ 48121 ไว้โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ผู้คัดค้านที่ 7 จึงได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 52 วรรคหนึ่ง ซึ่งไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์โต้แย้งคำสั่งของศาลชั้นต้น คดีของผู้ร้องในส่วนของผู้คัดค้านที่ 7 จึงยุติไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น
สำหรับฎีกาในส่วนผู้คัดค้านที่ 5 และที่ 6 ที่ผู้ร้องฎีกาว่า ผู้คัดค้านที่ 5 เป็นผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการลักลอบหนีศุลกากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร อันเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 วรรคหนึ่ง (7) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 นั้น เห็นว่า การตรวจสอบทรัพย์สินและธุรกรรมของผู้คัดค้านที่ 5 เกิดจากกรณีที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินได้รับรายงานจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดเกี่ยวกับพฤติการณ์การกระทำความผิดของนายโสรสผู้ต้องขังคดียาเสพติด ในการลักลอบขายยาเสพติดจากเรือนจำกลางเขาบิน โดยมีผู้ร่วมกระทำความผิดอยู่ภายนอกเรือนจำ จึงขอให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินของบุคคลที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น การตรวจสอบทรัพย์สินและการทำธุรกรรมของผู้คัดค้านที่ 5 จึงเกิดจากความผิดมูลฐานเกี่ยวกับยาเสพติด เพียงแต่ในขณะตรวจสอบประวัติการกระทำความผิดของผู้คัดค้านที่ 5 พบว่าผู้คัดค้านที่ 5 เคยถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับการลักลอบหนีภาษีศุลกากร จึงมีการขอให้ทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 5 ตกเป็นของแผ่นดิน ด้วยเหตุความผิดเกี่ยวกับการลักลอบหนีศุลกากร อันเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 วรรคหนึ่ง (7) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ด้วย โดยผู้ร้องนำสืบแต่เพียงว่า เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2546 ผู้คัดค้านที่ 5 ถูกจับกุมข้อหาร่วมกันนำสิ่งของที่ยังมิได้เสียภาษีเข้าในราชอาณาจักร เลขคดีที่ 26/2546 และ 27/2547 แต่ปรากฏว่านายปิยะพยานผู้ร้องเบิกความตอบคำถามค้านทนายผู้คัดค้านที่ 5 ว่า เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2547 ศาลมีคำพิพากษาให้ยกฟ้องผู้คัดค้านที่ 5 แล้ว ตามสำเนาคำพิพากษาคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2325/2547 และ 2326/2547 ของศาลจังหวัดกำแพงเพชร คดีดังกล่าวถึงที่สุด โดยผู้ร้องไม่ได้นำสืบให้เห็นพฤติการณ์อื่นของผู้คัดค้านที่ 5 อีกว่ามีการกระทำใดอันจะเป็นการลักลอบหนีศุลกากรภายหลังจากผู้คัดค้านที่ 5 ถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับศุลกากรเมื่อปี 2546 และผู้คัดค้านที่ 5 ได้มาซึ่งเงินหรือทรัพย์สินใดจากการลักลอบหนีศุลกากรนั้น เมื่อมูลเหตุอันเป็นที่มาของการตรวจสอบทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 5 ในคดีนี้มาจากการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดรายนายโสรส อันเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 การที่ผู้ร้องจะขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 5 ตกเป็นของแผ่นดินตามความผิดมูลฐานอื่นรวมเข้ามาด้วย ผู้ร้องต้องตรวจสอบให้แน่ชัดว่ามีการกระทำความผิดนั้นเกิดขึ้นและมีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้คัดค้านที่ 5 ได้มาซึ่งทรัพย์สินใดอันเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดนั้น ผู้ร้องจึงจะมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดินตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เพราะการร้องขอให้ทรัพย์สินของบุคคลตกเป็นของแผ่นดิน เป็นการก้าวล่วงเข้าไปในแดนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของเอกชนที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยให้การคุ้มครอง ซึ่งเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องดำเนินการอย่างเคร่งครัดตามกฎหมาย เมื่อคดีนี้ศาลจังหวัดกำแพงเพชรมีคำพิพากษาตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2325/2547 และ 2326/2547 ยกฟ้องผู้คัดค้านที่ 5 ในความผิดเกี่ยวกับศุลกากร และผู้ร้องไม่นำสืบให้เห็นว่าผู้คัดค้านที่ 5 มีพฤติการณ์อื่นใดเกี่ยวกับการลักลอบหนีศุลกากร และผู้คัดค้านที่ 5 ได้ทรัพย์สินใดไปจากการกระทำความผิดเกี่ยวกับศุลกากร ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ผู้คัดค้านที่ 5 มิได้เป็นผู้กระทำความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 วรรคหนึ่ง (7) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องเพียงว่า ผู้คัดค้านที่ 5 และที่ 6 เป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐานเกี่ยวกับยาเสพติดหรือความผิดฐานฟอกเงิน และทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 5 และที่ 6 ตามคำร้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด เห็นว่า จากทางนำสืบของผู้ร้องเกี่ยวกับการทำธุรกรรมระหว่างผู้คัดค้านที่ 5 กับบุคคลดังกล่าวตามที่นายปิยะเบิกความ ผู้คัดค้านที่ 5 ไม่โต้แย้งว่าไม่ได้ทำธุรกรรมดังกล่าว แต่นำสืบว่าเป็นการโอนและรับโอนเงินจากการซื้อขายสินค้าโดยสุจริต ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายชยานันท์ เคยถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุก 3 ปี 9 เดือน ในความผิดฐานครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายยาเสพติด (เมทแอมเฟตามีน) เมื่อปี 2548 แม้ยาเสพติดของกลางมีเพียง 125 เม็ด แต่ก็ถือว่านายชยานันท์เป็นผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอันเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ดังนั้น การที่นายชยานันท์โอนเงินเข้าบัญชีธนาคารให้แก่ผู้คัดค้านที่ 5 จำนวน 4 ครั้ง รวมเป็นเงิน 6,089,172 บาท จึงต้องฟังว่าผู้คัดค้านที่ 5 เป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอันเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ซึ่งมาตรา 51 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบรรดาทรัพย์สินดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดหรือได้รับโอนมาโดยไม่สุจริตแล้วแต่กรณี
ส่วนผู้คัดค้านที่ 6 มีชื่อเป็นเจ้าของโฉนดที่ดินร่วมกับผู้คัดค้านที่ 5 จำนวน 2 แปลง คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 870 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง และที่ดินโฉนดเลขที่ 17046 แม้ผู้ร้องจะนำสืบในทำนองว่า ผู้คัดค้านที่ 6 เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจำกัดชอุ้ม ผลสมบูรณ์ และเปิดบัญชีธนาคารร่วมกับผู้คัดค้านที่ 5 โดยผู้คัดค้านที่ 5 หรือผู้คัดค้านที่ 6 คนใดคนหนึ่งสามารถสั่งจ่ายได้ ซึ่งมีลักษณะเข้าร่วมจัดการห้างหุ้นส่วน และพบการถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับผู้คัดค้านที่ 5 โดยผู้คัดค้านที่ 5 ออกเงินให้ก่อนก็ตาม แต่เมื่อศาลฎีกาได้วินิจฉัยแล้วว่าทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 5 ไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด แม้ข้อเท็จจริงในส่วนของผู้คัดค้านที่ 6 จะฟังได้ตามที่ผู้ร้องนำสืบ ก็ไม่ทำให้ทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านที่ 6 มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกับผู้คัดค้านที่ 5 เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกคำร้องของผู้ร้องในส่วนของผู้คัดค้านที่ 5 และที่ 6 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของผู้ร้องในส่วนนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 31543 ทรัพย์สินรายการที่ 6 และทรัพย์สินอื่นตามบัญชีรายการทรัพย์สินเอกสารหมาย ร.7 ในสำนวนหลัง และทรัพย์สินรายการที่ 1 ถึงรายการที่ 6 และรายการที่ 24 ถึงรายการที่ 32 ตามบัญชีรายการทรัพย์สินเอกสารหมาย ร.24 ในสำนวนแรกและดอกผลตกเป็นของแผ่นดิน แต่ทรัพย์สินรายการที่ 1 และรายการที่ 4 ตามบัญชีรายการทรัพย์สินเอกสารหมาย ร.7 ในสำนวนหลังเฉพาะเงินสกุลบาทจำนวน 169,900 บาท และเงินสกุลหยวนจำนวน 2,500 หยวน ให้คืนแก่ผู้คัดค้านที่ 3 ส่วนที่เหลือและดอกผลให้ตกเป็นของแผ่นดิน และให้นำที่ดินโฉนดเลขที่ 31543 ออกขายทอดตลาดโดยปลอดจำนอง แล้วนำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดชำระหนี้จำนองพร้อมดอกเบี้ยไม่เกินอัตราสูงสุดตามประกาศของธนาคารที่มีผลบังคับในระหว่างนั้นให้แก่ผู้คัดค้านที่ 7 โดยดอกเบี้ยให้คิดถึงวันขายทอดตลาดได้เท่านั้น หากมีส่วนที่เหลือให้ตกเป็นของแผ่นดิน ยกคำร้องของผู้ร้องสำหรับผู้คัดค้านที่ 5 และที่ 6 กับให้คืนทรัพย์สินรายการที่ 7 ถึงรายการที่ 23 ตามบัญชีรายการทรัพย์สินเอกสารหมาย ร.24 ในสำนวนแรกให้แก่ผู้คัดค้านที่ 5 และที่ 6 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาทั้งสองสำนวนให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์