โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326,328 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน (ฉบับที่ 41) พ.ศ. 2519ข้อ 7, 8
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์โดยพนักงานอัยการซึ่งอธิบดีกรมอัยการมอบหมายรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 ลงโทษจำคุก 3 เดือน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "...ศาลฎีกาเชื่อว่าจำเลยได้พูดว่าผู้เสียหายจริง พยานหลักฐานที่อยู่ของจำเลยไม่พอฟังหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ ปัญหาต่อไปมีว่าคำกล่าวของจำเลยใจความว่าผู้เสียหายชอบพาตำรวจมาจับชาวบ้านและหากินกับตำรวจนั้นเป็นการใส่ความผู้เสียหายโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังหรือไม่ เห็นว่า ผู้เสียหายเป็นสารวัตรกำนัน เป็นเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองเบื้องต้นของทางราชการ การที่จำเลยพูดว่าผู้เสียหายชอบพาตำรวจมาจับชาวบ้านและหากินกับตำรวจนั้นผู้ที่ได้ยินได้ฟังย่อมเข้าใจความหมายไปในทางที่ว่าผู้เสียหายหาเหตุพาตำรวจมาจับชาวบ้าน และตำรวจเรียกร้องเอาเงินทองหรือผลประโยชน์อย่างอื่นจากชาวบ้าน เพื่อแลกเปลี่ยนหรือตอบแทนกับการที่จะไม่ถูกดำเนินคดีในฐานความผิดที่ถูกจับกุม อันเป็นเรื่องที่ตำรวจกินหรือรับสินบนแล้วตำรวจแบ่งเงินทองหรือผลประโยชน์ที่ได้รับมาจากชาวบ้านนั้นให้แก่ผู้เสียหาย ผู้เสียหายจึงได้ชื่อว่าหากินกับตำรวจ และเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบคำกล่าวของจำเลยดังกล่าวย่อมจะทำให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังจำเลยจึงมีความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้เสียหายดังที่โจทก์ฟ้อง ส่วนคำกล่าวที่ว่า ผู้เสียหายนามสกุลหมา ๆ นั้นเป็นแต่เพียงการดูหมิ่นเหยียดหยามเท่านั้น ไม่พอถือว่าเป็นการใส่ความผู้เสียหายโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ที่จำเลยฎีกาว่า ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยยังมิได้วินิจฉัยว่า ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวโฆษณาเป็นการหมิ่นประมาทผู้อื่นอันจะเป็นความผิดครบองค์ประกอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328 หรือไม่ การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยประเด็นนี้เสียเองโดยมิได้ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาเสียก่อน การวินิจฉัยประเด็นของคดีจึงมิได้เป็นไปตามลำดับชั้นของศาลนั้น เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยเห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์ยังมีข้ออันควรสงสัยอยู่ว่าจำเลยจะได้พูดดังที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ ดังนั้น ปัญหาที่ว่าคำกล่าวของจำเลยจะเป็นความผิดต่อกฎหมายดังที่โจทก์อ้างหรือไม่ ศาลชั้นต้นก็ไม่จำเป็นจะต้องวินิจฉัย ฉะนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์ฟังว่าจำเลยได้กล่าวถ้อยคำตามที่โจทก์กล่าวในฟ้องจริง ศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจที่จะวินิจฉัยไปได้เลยว่าถ้อยคำของจำเลยเป็นการหมิ่นประมาทผู้เสียหายหรือไม่โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 208(2) ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น แต่อย่างไรก็ดีไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อนขณะเกิดเหตุจำเลยอายุ 54 ปีแล้ว และเคยได้รับการแต่งตั้งจากทางราชการให้เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านซึ่งเป็นตำแหน่งที่ต้องปฏิบัติงานเสียสละเพื่อส่วนรวม กับได้ความว่าจำเลยประกอบอาชีพค้าขายลูกเป็ดอันเป็นสัมมาอาชีวะอย่างหนึ่ง นอกจากนั้นโทษจำคุกที่จะลงแก่จำเลยก็มีเพียงเล็กน้อย เห็นเป็นการสมควรรอการลงโทษจำคุกไว้สักครั้งหนึ่งก่อนเพื่อให้โอกาสจำเลยกลับตัว แต่สมควรลงโทษปรับด้วย"
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษปรับด้วย 2,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56ไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.