คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ ๒๘๔๗ พร้อมทั้งตึกเลขที่ ๑๓๗ จำเลยเช่าจากเจ้าของเดิม ได้ทำการค้าเกี่ยวกับสมุนไพรและยาไทย และทำเป็นสถานที่ตัดผม สัญญาเช่าสิ้นอายุแล้ว โจทก์ประสงค์จะเข้าอยู่ ขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกไป และให้ใช้ค่าเสียหาย
จำเลยให้การว่า จำเลยเช่าตึกรายพิพาทใช้เป็นที่อยู่อาศัย จึงเป็นเคหะได้รับความคุ้มครองจากพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าในภาวะคับขัน ๆ และพระราชบัญญัติควบคุมการเช่าเคหะและที่ดิน
ศาลแพ่งวินิจฉัยว่า จำเลยใช้ตึกพิพาทเป็นที่อยู่อาศัย พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ฟังว่า จำเลยเช่าเพื่อประกอบการค้า ไม่ได้รับความคุ้มครอง พิพากษากลับคำพิพากษา ศาลชั้นต้นให้ขับไล่จำเลยและบริวาร
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยเป็นแพทย์แผนโบราณ มีอาชีพรับรักษาโรคได้เช่า ตึกแถวพิพาทจากเจ้าของเดิม ตั้งแต่วันที่ ๓ ตุลาคม ๒๔๘๐ ได้ทำสัญญาเช่ากันทุก ๓ ปี และเสียเงินกินเปล่าให้เจ้าของเดิมทุกครั้ง ในปี พ.ศ.๒๔๙๔,๒๔๙๕ จำเลยได้ตั้งเครื่องบดยาไฟฟ้าในตึกพิพาทรับจ้างบดยาสมุนไพรและทำยาผงไทยให้เป็นเม็ด วันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๐๐ จำเลยได้ขอจดทะเบียนพาณิชย์ ปรากฏตามเอกสารโจทก์อ้างศาลหมาย จ.๓ ในรายการหน้าหมายอักษร ก.ว่า "ทำการขายเครื่องยาแผนโบราณไทยและจีน เป็นส่วนใหญ่ส่งไปหรือรับมาจากต่างจังหวัดด้วย มีค่าอย่างสูง ๓,๐๐๐ บาท" และหน้าหมายอักษร ค. ในช่องรายการว่า "ทำการปรุงยาไทยแผนโบราณ มีค่าอย่างสูง ๑๐,๐๐๐ บาท วันหนึ่งปรุงยาเขียว ยาแก้ลมได้ประมาณอย่างต่ำ ๓๐๐ ซอง อย่างสูง ๕๐๐ ซอง" จำนวนทุนการค้า ๒๐,๐๐๐ บาท กับใช้ชื่อร้านประกอบการพาณิชย์ว่าวิสุทธิวโรสถ ฟังได้ว่าจำเลยได้ประกอบการค้าเป็นล่ำเป็นสัน ไม่ใช่ประกอบกิจการเล็กน้อยเพื่อดำรงชีพ และในปี พ.ศ.๒๕๐๑ จำเลยได้ใช้ตึกพิพาทเป็นร้านตัดผม ใช้ชื่อร้านว่า แสงทิพย์ ประกอบกิจการเป็นเวลา ๒-๓ ปี เพิ่งเลิกเสียเมื่อปีเศษมานี้ และทุกครั้งเมื่อจำเลยทำสัญญาใหม่ ได้เสียเงินกินเปล่าให้แก่ผู้ให้เช่าเรื่อยมา แสดงว่าจำเลยได้ประกอบการขายยาด้วย และได้ทำการค้าขายเป็นส่วนใหญ่ จึงได้เสียเงินกินเปล่าให้แก่ผู้ให้เช่า ทั้งตึกพิพาทตั้งอยู่ที่ถนนบำรุงเมือง ในย่านนี้จากสี่กั๊กถึงเสาชิงช้ามีประมาณ ๓๐ กว่าห้อง เฉพาะตอนที่จำเลยเช่ามีรวม ๑๐ ห้อง ในจำนวนนี้ได้เปิดทำการค้าขาย ๗ ห้อง เป็นร้านเย็บรองเท้า เย็บปลาสติก เย็บเครื่องหนัง และขายเครื่องบวชนาค ที่ไม่ได้ทำการค้ามีเพียง ๓ ห้อง จึงอยู่ในทำเลการค้า เพราะเป็นร้านค้ามากกว่าที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัย คดีฟังได้ว่า จำเลยได้เช่าตึกแถวเพื่อประกอบการค้า แม้จำเลยจะใช้เป็นที่อยู่อาศัยด้วย ก็ไม่ได้รับความคุ้มครอบตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่าเคหะและที่ดิน พ.ศ.๒๕๐๔ มาตรา ๔
พิพากษายืน.