ได้ความว่าพระยาสีหราชฤทธิ์ไกรทำพินัยกรรม์ยกทรัพย์ทั้งหมดให้แก่จำเลย เว้นแต่ที่ดินโฉนดที่ ๑๗๑๒ ระบุไว้ว่า บุตร์และญาติอยู่มาอย่างไรให้อยู่ไปอย่างนั้น ให้จำเลยเป็นหัวหน้าปกครอง ห้ามมิให้ซื้อขาย เว้นแต่ทางราชการต้องการซื้อ ได้เงินเท่าไรแบ่งกันระหว่างบุตร์ ๕ คนตามส่วนดังระบุไว้ ที่ดินรายนี้มีชื่อจำเลยเป็นเจ้าของในโฉนดด้วยพระยาสีหราชฤทธิไกรตายเมื่อปี ๒๔๗๐ ต่อมาจำเลยรังวัดจะแบ่งที่รายนี้ตอนเหนือเป็นของจำเลย โจทก์ฟ้องว่าจำเลยลอบลงชื่อของจำเลยในโฉนดโดยทุจริต ขอให้ถอนชื่อจากโฉนดและถอดถอนจากเป็นหัวหน้าปกครองและว่าข้อกำหนดพินัยกรรม์เป็นโมฆะ ขอให้แบ่งที่ดิน
ศาลชั้นต้นฟังว่าจำเลยมีชื่อในโฉนดโดยชอบ ข้อกำหนดในพินัยกรรม์เป็นการตั้งตรัสต์ ผลแห่งตรัสต์จะสิ้นสุดเมื่อสิ้นสุดชีวิตผู้รับประโยชน์กับต่อไปอีก ๒๐ ปีตามคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๓๖/๒๔๘๑ แต่การนำรังวัดเพื่อแบ่งที่ดินของจำเลยเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลแพ่งมาตรา ๑๓๖๔ จึงพิพากษาห้ามจำเลยทำการแบ่งแยก คำขอนอกนั้นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ฟังว่าจำเลยมีชื่อในโฉนดโดยทำทุจริต จึงพิพากษาให้ถอนชื่อจำเลยจากโฉนด และถอดจากเป็นหัวหน้าครอบครอง
โจทก์ฎีกา จำเลยฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าที่ศาลอนุญาตให้จำเลยอ้างพะยานเพิ่มเติมเมื่อสืบพะยานโจทก์แล้วนั้น ทำได้ตามประมวลวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๘๗ วรรค ๒ ส่วนข้อกำหนดในพินัยกรรม์ไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนและฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยมีชื่อในโฉนดโดยชอบ เห็นว่าไม่มีเหตุที่จะถอดถอนจำเลยจากเป็นหัวหน้าปกครองตามพินัยกรรม์ จึงพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น