โจทก์ฟ้องขอให้มีคำสั่งให้เลิกห้างหุ้นส่วนสามัญระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 โดยให้โจทก์และจำเลยที่ 1 ทำการชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วนสามัญร่วมกันจนเสร็จสิ้น ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน 23,413,185 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 3 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 983, 22557, 22558 (ที่ดินลำดับที่ 8 ถึง 10) คืนโจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 3 หากคืนไม่ได้ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงิน 17,715,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้เพิกถอนการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 3361, 50724 (17769) (ที่ถูก 50727 เดิม 17769), 22516 (ที่ดินลำดับที่ 29 ถึง 31) ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 4 และให้จำเลยที่ 1 และที่ 4 ร่วมกันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวให้เป็นชื่อของจำเลยที่ 1 ด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลยที่ 1 และที่ 4 หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 และที่ 4 และให้นำที่ดินดังกล่าวมาแบ่งกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 คนละครึ่ง หากไม่สามารถแบ่งได้ให้ประมูลกันเอง หากไม่สามารถดำเนินการได้ให้นำที่ดินออกขายทอดตลาดนำเงินที่ได้หลังหักค่าใช้จ่ายมาแบ่งกันคนละครึ่ง
จำเลยทั้งสี่ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ห้างหุ้นส่วนสามัญระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เลิกกัน โดยให้โจทก์กับจำเลยที่ 1 ร่วมกันชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วนจนเสร็จสิ้นส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 3361, 50724 (ที่ถูก 50727 เดิม 17769) และ 22516 ให้โจทก์และจำเลยที่ 1 แบ่งกันคนละครึ่ง หากไม่สามารถตกลงแบ่งกันได้ให้ประมูลราคากันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1และหากยังไม่สามารถดำเนินการได้ด้วยวิธีใด ๆ ให้นำที่ดินทั้งสามโฉนดดังกล่าวออกขายทอดตลาด นำเงินที่ได้มาแบ่งกันคนละกึ่งหนึ่ง กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 50,000 บาท ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอให้มีคำสั่งเลิกห้างหุ้นส่วนสามัญระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 และคำขอให้ทำการชำระบัญชีของหุ้นส่วนสามัญดังกล่าวกับให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ด้วย แต่ไม่ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 3361, 50727 (เดิม 17769) และ 22516 ให้โจทก์และจำเลยที่ 4 แบ่งกันคนละครึ่ง หากไม่สามารถตกลงแบ่งกันได้ให้ประมูลราคากันระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 4 และหากยังไม่สามารถแบ่งกันได้ให้นำที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าวออกขายทอดตลาด นำเงินที่ได้มาแบ่งกันคนละครึ่ง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตให้ฎีกา
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย นาย ว. ทายาทของจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลฎีกาอนุญาต
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันชั้นฎีการับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นบุตรจำเลยที่ 1 ปี 2544 โจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญเพื่อแสวงหากำไรจากการไถ่ถอนการจำนองที่ดินลำดับที่ 1 ถึง 46 ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท ห. และบริษัท ร. จำนองเป็นประกันหนี้ไว้แก่บริษัท ง. ต่อมากองทุนรวม บ. ได้รับโอนสิทธิเรียกร้องหนี้ดังกล่าว โจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นผู้ประมูลชำระหนี้ดังกล่าวได้ในวงเงิน 52,000,000 บาท และจะจำหน่ายที่ดินดังกล่าวนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่กองทุนรวม บ. แทนบริษัท ห. และบริษัท ร. โดยบริษัททั้งสองต้องโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวให้โจทก์และจำเลยที่ 1 โจทก์และจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชอบเงินทุนรวมทั้งค่าใช้จ่ายต่าง ๆ คนละกึ่งหนึ่งเท่า ๆ กัน กำไรที่ได้จากการขายที่ดินหลังจากหักเงินลงทุนและค่าใช้จ่ายแล้วแบ่งปันกันคนละกึ่งหนึ่ง จำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกเงินค่าใช้จ่ายและเงินลงทุนไปก่อน โจทก์และจำเลยที่ 1 ขายที่ดินลำดับที่ 1 ถึง 7 และลำดับที่ 32 ถึง 45 นำเงินไปชำระหนี้ให้กองทุนรวม บ. จนครบถ้วน คงเหลือที่ดินลำดับที่ 8 ถึง 10 คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 983, 22557 และ 22558 ที่ดินลำดับที่ 11 ถึง 28 คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 7067, 35719 ถึง 35726, 7640 และ 35711 ถึง 35718 และที่ดินลำดับที่ 29 ถึง 31 คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 3361, 50727 (เดิม 17769) และ 22516 ปี 2546 บริษัท ห. และบริษัท ร. โอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน 24 แปลง ดังกล่าว ให้แก่โจทก์และจำเลยที่ 1 มีชื่อถือกรรมสิทธิ์รวมกัน ต่อมาวันที่ 11 มิถุนายน 2557 โจทก์ทำนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินลำดับที่ 8 ถึง 28 ส่วนของโจทก์ โดยที่ดินลำดับที่ 8 ถึง 10 โอนให้จำเลยที่ 3 ที่ดินลำดับที่ 11 ถึง 28 โอนให้จำเลยที่ 2 ต่อมาจำเลยที่ 2 ขายที่ดินลำดับที่ 11 ถึง 28 ให้แก่บริษัท ล. และจำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินลำดับที่ 29 ถึง 31 ส่วนของตนให้จำเลยที่ 4 ส่วนที่ดินลำดับที่ 46 เป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท ห. และบริษัท ร.
ที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินลำดับที่ 8 ถึง 10 ให้แก่จำเลยที่ 3 และลำดับที่ 11 ถึง 28 ให้แก่จำเลยที่ 2 ตามคำขอของจำเลยที่ 1 เพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่จำเลยที่ 1 จะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินลำดับที่ 29 ถึง 31 แก่โจทก์ นั้น เห็นว่า โจทก์กล่าวอ้างในฟ้องว่า โจทก์โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินลำดับที่ 8 ถึง 10 ให้แก่จำเลยที่ 3 และลำดับที่ 11 ถึง 28 ให้แก่จำเลยที่ 2 เพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่จำเลยที่ 1 จะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินลำดับที่ 29 ถึง 31 แก่โจทก์แต่อย่างใด ฎีกาของโจทก์ดังกล่าวเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ซึ่งมิได้กล่าวในฟ้อง จึงเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ทั้งมิใช่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 252 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกามีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้เลิกห้างหุ้นส่วนสามัญระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และจัดการชำระบัญชีหรือไม่ โจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินลำดับที่ 8 ถึง 10 ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 และมีอำนาจฟ้องเรียกให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินที่ได้จากการขายที่ดินลำดับที่ 11 ถึง 28 ให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่งหรือไม่ ซึ่งเห็นสมควรวินิจฉัยไปคราวเดียวกันโจทก์มีตัวโจทก์เป็นพยานเบิกความว่า ที่ดินลำดับที่ 8 ถึง 31 โจทก์และจำเลยที่ 1 ถือกรรมสิทธิ์รวมกันมาตั้งแต่ปี 2546 แต่ยังขายไม่ได้ จึงยังไม่มีการชำระบัญชีต่อกันเมื่อประมาณต้นเดือนพฤษภาคม 2546 จำเลยที่ 1 ได้มาแจ้งโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ได้ตรวจดูรายการใช้จ่ายที่ลงบัญชีไว้ในโครงการร่วมทุนระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 แล้วปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ออกเงินทุนและค่าใช้จ่ายเกินไปประมาณ 8,000,000 บาท ในขณะที่ที่ดินส่วนที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ถือกรรมสิทธิ์รวมกันยังขายไม่ได้ เพื่อความมั่นใจจำเลยที่ 1 จึงขอให้โจทก์ออกเช็คเป็นหลักประกันจำนวน 8,000,000 บาท ให้จำเลยที่ 1 ยึดถือไว้ โจทก์เห็นว่าเพื่อความสบายใจของจำเลยที่ 1 ประกอบกับโจทก์เคยออกเช็คเป็นหลักประกันการร่วมทุนการก่อสร้างอาคารพาณิชย์ขายที่ซอยพาณิชยการธนบุรี จำนวน 2,000,000 บาท ให้จำเลยที่ 1 ยึดถือไว้ซึ่งมีการชำระบัญชีในโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ แต่จำเลยที่ 1 ก็ยังไม่ได้คืนเช็คฉบับดังกล่าวแก่โจทก์ โจทก์จึงออกเช็ค จำนวนเงิน 8,000,000 บาท โดยไม่ลงวันที่สั่งจ่ายให้แก่จำเลยที่ 1 ยึดถือไว้เป็นหลักประกันจนกว่าจะมีการขายที่ดินส่วนที่เหลือและชำระบัญชีกัน จำเลยที่ 1 จึงจะคืนเช็คให้ จนกระทั่งเมื่อประมาณต้นปี 2557 จำเลยที่ 1 อ้างว่ากิจการค้าข้าวของครอบครัวจำเลยที่ 1 ประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง ต้องใช้เงินมาหมุนเวียนกิจการค้า เนื่องจากรัฐบาลในขณะนั้นมีนโยบายรับจำนำข้าว ชาวนาจึงนำข้าวไปจำนำไว้แก่โรงสีที่ร่วมโครงการกับรัฐบาล ทำให้จำเลยที่ 1 ไม่สามารถซื้อข้าวสารจากโรงสีมาบรรจุถุงขายได้ และจำเลยที่ 1 บอกโจทก์ว่าได้ติดต่อขายที่ดินลำดับที่ 8 ถึง 28 ให้แก่บุคคลภายนอกไว้แล้ว แต่ต้องทำการรังวัดและทำเรื่องรวมโฉนดที่ดินซึ่งต้องใช้ระยะเวลานานและต้องเดินทางไปยื่นเรื่องราวต่าง ๆ ที่สำนักงานที่ดินหลายครั้ง เพื่อความสะดวกในการรังวัดรวมโฉนดที่ดิน ขอให้โจทก์โอนกรรมสิทธิ์ส่วนของโจทก์ในที่ดินลำดับที่ 8 ถึง 28 ให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพียงคนเดียวไว้ก่อน โดยจำเลยที่ 1 จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เองทั้งหมด เมื่อรังวัดแบ่งแยกและขายที่ดินได้แล้ว จึงจะทำการคิดบัญชีกันโจทก์รู้จักจำเลยที่ 1 มานานหลายสิบปี ประกอบกับกิจการค้าข้าวของจำเลยที่ 1 ขาดสภาพคล่องทางการเงิน และยังมีที่ดินที่ถือกรรมสิทธิ์รวมกันซึ่งยังขายไม่ได้อีก 3 แปลง โจทก์หลงเชื่อจึงตกลงช่วยเหลือ โดยเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2557 โจทก์ได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินลำดับที่ 8 ถึง 10 ในส่วนของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 ขอให้ใส่ชื่อจำเลยที่ 3 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทน ส่วนที่ดินลำดับที่ 11 ถึง 28 ให้ใส่ชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทนเช่นกัน หลังจากโอนกรรมสิทธิ์ดังกล่าวแล้ว โจทก์ได้ติดตามทวงถามเรื่องการรังวัดรวมโฉนดและการขายที่ดินดังกล่าว จำเลยที่ 1 แจ้งว่า ต้องใช้เวลาในการรังวัดและรวมโฉนด เมื่อดำเนินการเสร็จและขายได้แล้วจะแจ้งให้โจทก์ทราบเพื่อคิดบัญชีระหว่างหุ้นส่วนต่อไป ส่วนจำเลยทั้งสี่มีจำเลยที่ 1 เป็นพยานเบิกความว่า ระหว่างการทำโครงการซื้อขายที่ดิน เมื่อโจทก์ขัดสนทางการเงินที่ใช้หมุนเวียนในธุรกิจของตนเอง ก็มักหยิบยืมเงินจากจำเลยที่ 1 เป็นประจำ การยืมเงินแต่ละครั้งไม่ได้ทำสัญญาเป็นหนังสือ แต่ใช้วิธีจดบันทึกไว้จนเมื่อการกู้ยืมเงินมีจำนวนมากถึง 2,000,000 บาท และ 8,000,000 บาท โจทก์จึงได้สั่งจ่ายเช็คจำนวน 2,000,000 บาท และ 8,000,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1 เพื่อยึดถือไว้และเมื่อต้องการจะนำไปเรียกเก็บเงินให้จำเลยที่ 1 ลงวันที่ในเช็คเองได้ จำเลยที่ 1 เก็บเช็คทั้งสองฉบับดังกล่าวไว้โดยยังไม่นำมาลงวันที่เพื่อเรียกเก็บเงิน ประกอบกับจำเลยที่ 1 กับโจทก์ยังทำโครงการซื้อขายที่ดินร่วมกันอยู่และได้ถือกรรมสิทธิ์รวมกันในที่ดินทุกแปลงจำเลยที่ 1 จึงยอมให้โจทก์กู้ยืมเงินเป็นจำนวนมากเนื่องจากเมื่อขายที่ดินที่ถือกรรมสิทธิ์รวมกันได้แล้วมีเงินเพียงพอแก่การชำระหนี้เงินกู้ให้แก่จำเลยที่ 1 ได้ เช็คทั้งสองฉบับดังกล่าวจึงไม่ใช่เช็คค้ำประกันการซื้อขายที่ดินตามที่โจทก์กล่าวอ้าง แต่เป็นเช็คเพื่อชำระหนี้เงินกู้ยืมนอกจากส่วนของเงินที่จำเลยที่ 1 ได้ลงทุนไปและเงินที่โจทก์กู้ยืมแล้ว โจทก์ยังได้นำเช็คมาแลกเงินสดจากจำเลยที่ 1 อีกหลายครั้ง โดยโจทก์บอกว่าเมื่อขายที่ดินส่วนที่ถือกรรมสิทธิ์รวมกันได้เมื่อใดก็จะคิดบัญชีและชำระเงินลงทุนพร้อมดอกเบี้ยเงินที่กู้ยืมและเช็คแลกเงินสดกว่า 30 ฉบับ คืนให้แก่จำเลยที่ 1 สำหรับที่ดินลำดับที่ 8 ถึง 31 ยังไม่สามารถขายเพื่อนำเงินมาหักชำระเงินลงทุนพร้อมดอกเบี้ยคืนให้แก่จำเลยที่ 1 ได้ จนเวลาล่วงเลยมานานกว่า 10 ปี จำเลยที่ 1 พยายามทวงถามให้โจทก์มาคิดบัญชี เนื่องจากได้ใช้เงินทุนไปเป็นจำนวนมากและใช้เวลาในการลงทุนนานแล้ว ต่อมาประมาณเดือนมิถุนายน 2557 โจทก์ได้มาแลกเช็คกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 บอกโจทก์ว่าขอให้คิดบัญชีกันได้แล้ว จำเลยที่ 1 จึงสรุปยอดเงินที่จำเลยที่ 1 ได้ลงทุนไปเป็นเงินทั้งสิ้น 25,069,748 บาท หักกับเงินที่ได้จากการขายห้องแถว 9,685,500 บาท คงเหลือเงินที่จำเลยที่ 1 ได้ออกไปทั้งสิ้น 15,374,748 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ตามที่ได้ตกลงกันไว้ เมื่อสรุปเงินลงทุนพร้อมดอกเบี้ยนับแต่ปี 2546 ถึงปี 2557 แล้ว เป็นเงินลงทุนพร้อมดอกเบี้ยประมาณ 51,000,000 บาท แต่โจทก์ขอให้ลดในส่วนของดอกเบี้ยลง จนสุดท้ายได้ตกลงคิดดอกเบี้ยกันเพียง 8 ปี โดยไม่คิดดอกเบี้ยทบต้น คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 14,769,358 บาท รวมเป็นเงินลงทุนพร้อมดอกเบี้ยทั้งสิ้น 30,154,106 บาท โจทก์จึงต้องรับผิดชอบกึ่งหนึ่ง คือ 15,077,053 บาท และโจทก์ยังให้คิดยอดหนี้ตามเช็คที่โจทก์นำมาแลกเงินสดอีกกว่า 30 ฉบับ เป็นเงิน 13,553,869 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี นับแต่ปี 2546 ถึงปี 2557 คิดเป็นต้นเงินพร้อมดอกเบี้ย 31,023,241 บาท ซึ่งเมื่อรวมหนี้โจทก์ค้างชำระจริง ๆ ทั้งหมดแล้วเป็นเงินกว่า 50,000,000 บาท โจทก์ทราบถึงจำนวนเงินดังกล่าวแล้ว แต่โจทก์ก็ยังคงให้เหตุผลเดิมว่า ไม่มีเงินที่จะนำมาชำระคืนให้จำเลยที่ 1 จึงตกลงกับโจทก์ว่า เมื่อโจทก์ไม่มีเงินมาชำระ จำเลยที่ 1 จะซื้อที่ดินลำดับที่ 8 ถึง 28 ส่วนของโจทก์ โจทก์เห็นว่าเป็นหนี้ค้างชำระจำนวนมาก จึงตกลงที่จะขายที่ดินส่วนของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นการหักกลบลบหนี้กับหนี้เงินลงทุนและเช็คแลกเงินสดพร้อมดอกเบี้ยที่โจทก์เป็นหนี้จำเลยที่ 1 อยู่ การโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 โจทก์เป็นผู้ดำเนินการ โดยโจทก์ได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินในราคา 11,400,000 บาท แต่ความจริงเป็นการหักชำระหนี้กว่า 50,000,000 บาท ต่อมาได้นัดโอนกรรมสิทธิ์กันในวันที่ 11 มิถุนายน 2557 โดยที่ดินลำดับที่ 8 ถึง 10 จำเลยที่ 1 ประสงค์จะยกให้แก่จำเลยที่ 3 จึงให้โอนใส่ชื่อจำเลยที่ 3 ส่วนที่ดินลำดับที่ 11 ถึง 28 จำเลยที่ 1 ประสงค์จะยกให้แก่จำเลยที่ 2 จึงให้โอนใส่ชื่อจำเลยที่ 2 การจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ได้กระทำต่อหน้าเจ้าพนักงานที่ดิน โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียม 650,000 บาท การชำระบัญชีระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 จึงเสร็จสิ้นลง คงเหลือแต่เพียงเงินกู้ยืมจำนวน 10,000,000 บาท ที่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมให้หักชำระหนี้ด้วย เพราะได้หักชำระหนี้อื่น ๆ ซึ่งมีจำนวนมากกว่ามูลค่าที่ดินแล้ว และโจทก์บอกว่าจะชำระหนี้เงินกู้ยืมแก่จำเลยที่ 1 เมื่อขายที่ดินส่วนที่เหลือได้แล้ว ที่ดินลำดับที่ 29 ถึง 31 ตกลงให้ถือกรรมสิทธิ์คนละครึ่งซึ่งถือว่าเป็นการตกลงให้จัดการทรัพย์สินระหว่างหุ้นส่วนโดยวิธีอื่นเสร็จเรียบร้อยแล้ว ความเป็นหุ้นส่วนจึงเลิกกันแล้วตั้งแต่ปี 2557 และไม่มีทรัพย์สินใดที่จะต้องชำระบัญชีระหว่างกันอีก เห็นว่า โจทก์ประกอบอาชีพค้าขายที่ดินมาเป็นเวลากว่า 30 ปี มีประสบการณ์และเชี่ยวชาญในการทำนิติกรรมและการติดต่อกับสำนักงานที่ดินยิ่งกว่าจำเลยที่ 1 จึงทราบขั้นตอนและระยะเวลาในการรังวัดรวมโฉนดเป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังได้ความจากทางนำสืบของโจทก์ว่า การเข้าหุ้นส่วนระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 นั้น ได้แบ่งหน้าที่กันทำ โดยโจทก์มีหน้าที่ติดต่อ เจรจาประสานงานและนำที่ดินออกขาย ส่วนจำเลยที่ 1 มีหน้าที่หาแหล่งเงินทุน ซึ่งหากเป็นจริงดังที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1 ขอให้โจทก์โอนที่ดินลำดับที่ 8 ถึง 28 แก่จำเลยที่ 1 เพื่อความสะดวกแก่การรังวัดและรวมโฉนด สมควรที่โจทก์ต้องเป็นผู้ดำเนินการเองมิใช่จำเลยที่ 1 ดังนั้น ข้ออ้างที่ว่าโจทก์โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินในส่วนของตนให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งมิได้เป็นหุ้นส่วนให้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์รวมกับจำเลยที่ 1 โดยทำนิติกรรมซื้อขายและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อสะดวกแก่การรังวัดรวมโฉนดจึงไม่สมเหตุผลเพราะนอกจากการรังวัดรวมโฉนดไม่สะดวกรวดเร็วขึ้นดังที่โจทก์อ้างแล้ว ยังทำให้โจทก์เป็นฝ่ายเสียเปรียบอีกด้วยเพราะหนังสือสัญญาซื้อขายระบุไว้ชัดเจนว่า โจทก์ได้รับชำระเงินค่าซื้อขาย 4,400,000 บาท และ 7,000,000 บาท ตามลำดับ ครบถ้วนเรียบร้อยแล้ว ที่โจทก์อ้างว่าไม่มีการซื้อขายและรับชำระราคากันจริงนั้น ขัดแย้งกับข้อความที่ปรากฏในสัญญาซื้อขายดังกล่าว จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ยิ่งไปกว่านั้นการที่โจทก์อ้างว่าไม่ได้รับชำระเงินค่าซื้อขายที่ดินดังกล่าวกลับเจือสมกับข้อนำสืบของจำเลยทั้งสี่ที่ว่าโจทก์โอนที่ดินดังกล่าวให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 เพื่อเป็นการหักกลบลบหนี้ในการเข้าหุ้นส่วนกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ประกอบกับเมื่อพิจารณาถึงฐานะของจำเลยที่ 1 ในปี 2557 ที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1 ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน จึงมาขอให้โจทก์ช่วยเหลือนั้นก็ปรากฏตามสำเนาหนังสือขอบคุณของหน่วยงานต่าง ๆ ว่า ในปี 2557 จำเลยที่ 1 ได้บริจาคเงินให้แก่หน่วยงานเหล่านั้นเป็นจำนวนเงินรวมกันหลายล้านบาท อันแสดงถึงฐานะทางการเงินของจำเลยที่ 1 ในปี 2557 ว่ามิได้ประสบปัญหาทางการเงินดังที่โจทก์อ้างแต่อย่างใด ข้ออ้างของโจทก์จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง พยานหลักฐานของจำเลยทั้งสี่มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์โอนที่ดินลำดับที่ 8 ถึง 10 ให้แก่จำเลยที่ 3 และที่ดินลำดับที่ 11 ถึง 28 ให้แก่จำเลยที่ 2 เพื่อหักกลบลบหนี้กับเงินลงทุน หนี้สินและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่จำเลยที่ 1 ได้ออกทดรองไปก่อน พฤติการณ์ดังกล่าวถือว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ตกลงเลิกห้างหุ้นส่วนสามัญต่อกันแล้วตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2557 และการที่โจทก์โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนของโจทก์เพื่อหักกลบลบหนี้หรือตีใช้หนี้ดังกล่าวนั้น เป็นการตกลงกันให้จัดการทรัพย์สินโดยวิธีอื่นในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกันแทนการชำระบัญชี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1061 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เลิกห้างหุ้นส่วนสามัญระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และให้จัดการชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วนสามัญ และไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินลำดับที่ 8 ถึง 10 ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ทั้งไม่มีอำนาจฟ้องเรียกให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินที่ได้จากการขายที่ดินลำดับที่ 11 ถึง 28 ให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาประการสุดท้ายมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินลำดับที่ 29 ถึง 31 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 4 หรือไม่ เห็นว่า เมื่อห้างหุ้นส่วนสามัญระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 เลิกกันและมีการจัดการทรัพย์สินโดยวิธีอื่นในระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 แทนการชำระบัญชีดังวินิจฉัยข้างต้นแล้วการที่จำเลยที่ 1 มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินลำดับที่ 29 ถึง 31 ร่วมกับโจทก์นั้นเป็นการถือกรรมสิทธิ์ในฐานะเป็นเจ้าของรวม จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิจำหน่ายที่ดินเฉพาะส่วนของตนให้จำเลยที่ 4 ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1361 วรรคหนึ่ง ซึ่งไม่กระทบกรรมสิทธิ์ส่วนที่เป็นของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินดังกล่าวระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 4 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน สำหรับฎีกาข้ออื่นของโจทก์เป็นเพียงรายละเอียดปลีกย่อยไม่ทำให้ผลของคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไป จึงไม่จำต้องวินิจฉัย
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ