โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3, 91, 277, 283 ทวิ, 317
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยานโจทก์ จำเลยขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสาม (เดิม), 283 ทวิ วรรคสอง (เดิม), 317 วรรคสาม (เดิม) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารและฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกกระทงละ 10 ปี รวม 3 กระทง ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากมารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร จำคุก 6 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปี คงจำคุกกระทงละ 5 ปี รวม 3 กระทง เป็นจำคุก 15 ปี ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากมารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร คงจำคุก 3 ปี รวมจำคุก 18 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า เด็กหญิง จ. ผู้เสียหายที่ 1 เป็นบุตรของนาง ร. ผู้เสียหายที่ 3 เมื่อปี 2559 ผู้เสียหายที่ 1 พักอาศัยกับนางสาว ม. ผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นยาย ติดกับบ้านของจำเลย วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2562 ผู้เสียหายที่ 1 เล่าให้ผู้เสียหายที่ 3 ฟังว่าจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 ขณะที่เรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ผู้เสียหายที่ 3 จึงพาผู้เสียหายที่ 1 ไปแจ้งความร้องทุกข์ที่สถานีตำรวจนครบาลบางขุนเทียน พนักงานสอบสวนส่งผู้เสียหายที่ 1 ไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลศิริราช แพทย์ตรวจพบว่าผู้เสียหายที่ 1 มีแผลฉีกขาดเก่าที่เยื่อพรหมจารี พนักงานสอบสวนสอบปากคำผู้เสียหายที่ 1 โดยมีพนักงานอัยการ นักสังคมสงเคราะห์ และผู้เสียหายที่ 3 เข้าร่วมฟังการสอบสวน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบประกอบคำรับสารภาพของจำเลยรับฟังลงโทษจำเลยในความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปี พาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร และพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากมารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจารตามฟ้องโจทก์ได้หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพว่ากระทำความผิดตามฟ้อง เมื่อความผิดฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร มิใช่ความผิดที่กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้นที่ศาลจะต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำความผิดจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพจึงฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานดังกล่าวแล้ว ส่วนความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีและฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากมารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจารมีอัตราโทษจำคุกอย่างต่ำตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป แม้โจทก์ต้องนำสืบพยานประกอบคำรับสารภาพของจำเลย แต่การนำสืบดังกล่าวไม่จำต้องได้ความชัดแจ้งโดยปราศจากข้อสงสัยเช่นในคดีที่จำเลยให้การปฏิเสธ โจทก์เพียงแต่นำสืบให้เป็นที่พอใจแก่ศาลว่าจำเลยได้กระทำความผิดจริงก็เป็นการเพียงพอแล้วที่ศาลจะลงโทษจำเลยได้ เมื่อคดีนี้โจทก์มีนาง ร. ผู้เสียหายที่ 3 เบิกความได้ความว่า เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2562 ผู้เสียหายที่ 1 เล่าให้ฟังว่า ผู้เสียหายที่ 1 ถูกจำเลยกระทำชำเราขณะผู้เสียหายที่ 1 ศึกษาอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 3 ครั้ง มีการกระทำชำเราสองครั้งที่บ้าน ซึ่งผู้เสียหายที่ 1 พักอาศัยอยู่กับนางสาว ม. ผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นยาย ในขณะที่จำเลยมาร่วมเล่นการพนันกับผู้เสียหายที่ 2 และครั้งสุดท้ายขณะผู้เสียหายที่ 1 นั่งเล่นอยู่ที่หน้าบ้าน จำเลยพาผู้เสียหายที่ 1 ไปกระทำชำเราที่บ้านของจำเลย สอดคล้องกับที่ผู้เสียหายที่ 1 เคยให้การไว้ต่อพนักงานสอบสวน ยืนยันถึงการกระทำของจำเลย และโจทก์มีรายงานการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์มาแสดงว่าพบรอยฉีกขาดเก่าที่เยื่อพรหมจารีของผู้เสียหายที่ 1 อันแสดงให้เห็นได้ว่าผู้เสียหายที่ 1 ถูกกระทำชำเราจริง พยานหลักฐานของโจทก์จึงแสดงให้เห็นถึงการกระทำผิดของจำเลยดังกล่าวแล้ว ที่จำเลยฎีกาอ้างว่า จำเลยมีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้เสียหายที่ 3 เนื่องจากเหตุที่จำเลยกู้ยืมเงินผู้เสียหายที่ 3 แล้วไม่ใช้คืน และเหตุที่จำเลยเข้าข้างเพื่อนบ้านข้างเคียงของผู้เสียหายที่ 3 ในเรื่องที่ผู้เสียหายที่ 3 สร้างส้วมรุกล้ำเข้าไปในพื้นที่ของเพื่อนบ้าน พนักงานสอบสวนไม่ได้สอบสวนเด็กที่เป็นเพื่อนเล่นกับผู้เสียหายที่ 1 และไม่ได้สอบปากคำเพื่อนบ้านที่เล่นการพนันอยู่กับผู้เสียหายที่ 2 และการตรวจบาดแผลของแพทย์ไม่พบบาดแผลฉีกขาดบริเวณปากช่องคลอด แต่พบบาดแผลฉีกขาดเก่าของเยื่อพรหมจารีของผู้เสียหายที่ 1 โดยแพทย์ให้ความเห็นว่าการฉีกขาดเกิดจากการล่วงล้ำของสิ่งใด ๆ เข้าไปในช่องคลอดก่อนการตรวจชันสูตรเกินกว่า 3 วัน จึงต้องฟังว่าเป็นการล่วงล้ำเข้าไปในช่องคลอดเพียงครั้งเดียวและไม่ได้เกิดจากการกระทำชำเราโดยจำเลยใช้อวัยวะเพศสอดเข้าไปในช่องคลอดของผู้เสียหายที่ 1 พยานหลักฐานของโจทก์จึงยังมีข้อสงสัยและรับฟังไม่ได้ตามฟ้องโจทก์นั้น เห็นว่า แม้ผู้เสียหายที่ 1 แจ้งเรื่องที่ถูกจำเลยกระทำชำเราให้ผู้เสียหายที่ 3 ฟังหลังเกิดเหตุเป็นเวลาเกือบ 3 ปี แต่ปัจจุบันผู้เสียหายทั้งสามย้ายไปอาศัยอยู่ที่อื่นแล้วไม่ได้อยู่ที่บ้านเกิดเหตุจึงไม่มีเหตุให้สงสัยได้ว่าเหตุใดจึงต้องกล่าวหาจำเลยอีก นอกจากนี้หากมีสาเหตุโกรธเคืองดังที่จำเลยอ้างจริงก็ไม่น่าเชื่อว่าผู้เสียหายที่ 3 จะให้การใส่ร้ายว่าจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรของตนเพราะจะทำให้เกิดความอับอายและเป็นตราบาปซึ่งเป็นผลร้ายแก่อนาคตของผู้เสียหายที่ 1 มากกว่า ส่วนเรื่องการสอบสวนคดีของพนักงานสอบสวนนั้นเป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะสืบหาพยานหลักฐานมาประกอบในการดำเนินคดีตามที่ได้รับแจ้ง และเป็นดุลพินิจของพนักงานสอบสวนที่จะเรียกบุคคลใดมาเป็นพยาน การที่พนักงานสอบสวนไม่ได้สอบปากคำบุคคลต่าง ๆ ตามที่จำเลยอ้างหาทำให้พยานหลักฐานของโจทก์ไม่มีน้ำหนักให้รับฟังไม่ สำหรับความเห็นของแพทย์ในการตรวจบาดแผลของผู้เสียหายที่ 1 ลักษณะบาดแผลที่เกิดขึ้นไม่อาจยืนยันได้อย่างแน่แท้ว่ามีการกระทำชำเรากี่ครั้ง ทั้งเหตุก็เกิดขึ้นนานแล้ว บาดแผลต่าง ๆ ย่อมอาจฟื้นฟูและหายไปได้ ข้อฎีกาของจำเลยที่อ้างว่าเป็นการชำเราเพียงครั้งเดียว จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง นอกจากนั้นขณะที่ผู้เสียหายที่ 3 เบิกความยืนยันว่าจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 จำนวน 3 ครั้ง และครั้งสุดท้ายจำเลยพาผู้เสียหายที่ 1 ไปกระทำชำเราที่บ้านของจำเลย จำเลยมิได้ถามค้านพยานโจทก์ให้เห็นเป็นข้อพิรุธอันจะทำให้ศาลระแวงสงสัยในคำพยานโจทก์ ทั้งจำเลยยังให้การรับสารภาพในชั้นพิจารณา พยานหลักฐานของโจทก์จึงเป็นที่พอใจว่าจำเลยกระทำความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีและพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากมารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจารตามฟ้องโจทก์แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อมาว่า มีเหตุสมควรลงโทษสถานเบาให้แก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า สำหรับความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากมารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร โทษที่ศาลอุทธรณ์กำหนดมานั้น เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ส่วนความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีที่ศาลอุทธรณ์วางโทษก่อนลดโทษให้จำคุก 10 ปี นั้น เป็นการกำหนดโทษที่หนักเกินไป ศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขให้เหมาะสมแก่รูปคดี
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกกระทงละ 8 ปี รวม 3 กระทง ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 12 ปี เมื่อรวมกับโทษฐานอื่นตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้ว เป็นจำคุก 15 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์