เดิมโจทก์ฟ้องนายปรุงเป็นจำเลยทางอาญาหาว่าขับรถยนต์ด้วยความประมาทชนเด็กชายบักชุ้นบุตรโจทก์ถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า นายปรุงขับรถยนต์ชนเด็กชายปักชุ้นโดยความประมาทจริง พิพากษาให้จำคุกนายปรุง ๑ ปี ๖ เดือน เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาแล้วโจทก์จึงฟ้องจำเลยทั้งสองเรียกค่าเสียหายทางแพ่ง โดยฉะเพาะนายสอาดจำเลยโจทก์อ้างว่าเป็นเจ้าของและผู้ควบคุมรถยนต์คันนั้นในเวลาเกิดเหตุ และได้จ้างหรือให้นายปรุงจำเลยผู้เป็นบุตรขับรถยนต์คันนั้น แต่เพราะคดีอาญานายปรุงจำเลยยังอุทธรณ์อยู่ โจทก์จึงขอถอนฟ้องไปเพื่อนำมาฟ้องใหม่ เมื่อคดีอาญาถึงที่สุด เพื่อมิให้คดีค้างศาล ศาลสั่งอนุญาตและจำหน่ายคดีแล้ว ครั้นเมื่อคดีอาญาถึงที่สุด โจทก์จึงฟ้องคดีนี้เรียกค่าเสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธต่อสู้คดี และว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยร่วมกันใช้ค่าเสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกา วินิจฉัยเรื่องอายุความว่า ในการเรียกร้องค่าเสียหายในฐานละเมิดจากผู้อื่นที่มิได้ร่วมในการกระทำผิดทางอาญา ต้องนับอายุความตาม ป.พ.พ.ม. ๔๔๘ วรรค ๑ ( อ้างฎีกาที่ ๓๘๓/๒๔๙๗ ) โจทย์ฟ้องคดีนี้หลังจากเหตุเกิดเกินกว่า ๑ ปี แม้โจทก์จะฟ้องจำเลยมาก่อน แต่ก็ได้ถอนฟ้องไปแล้ว จึงไม่เป็นเหตุให้อายุความสดุดหยุดลง ฟ้องโจทก์ฉะเพาะจำเลยที่ ๒ จึงขาดอายุความ ส่วนคดีสำหรับจำเลยที่ ๑ นั้น สิทธิของโจทก์ที่จะฟ้องคดีมีกำหนดอายุความตาม ป.พ.พ.ม. ๑๖๘ ตามความใน ป.วิ.อาญา ม. ๕๑ คือ ๑๐ ปีฟ้องโจทก์ฉะเพาะจำเลยที่ ๑ จึงไม่ขาดอายุความ พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องโจทก์ฉะเพาะจำเลยที่ ๒ คงให้จำเลยที่ ๑ ผู้เดียวรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลล่าง