โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ร่วมกันชำระเงิน 7,399,018 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น ให้จำเลยที่ 6 รับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 6 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ขอให้เรียกบริษัท ก. เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ร่วมกันชำระเงิน 7,399,018 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 30 ตุลาคม 2560) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 6 รับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ ในส่วนของจำเลยที่ 6 ค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ใช้แทน 5,000 บาท ให้จำเลยที่ 6 ใช้แทน 5,000 บาท ยกฟ้องจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วม ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมให้เป็นพับ
จำเลยที่ 6 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 6 ร่วมรับผิดในวงเงิน 485,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 6 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้ฎีกาจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์ประกอบกิจการธนาคาร ทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้สำรวจและประเมินราคาทรัพย์สินที่ลูกค้าโจทก์นำมาจำนองเป็นประกันเงินกู้กับโจทก์ จำเลยที่ 6 เป็นผู้ค้ำประกันการปฏิบัติงานของจำเลยที่ 1 โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมในวงเงิน 500,000 บาท ตามสัญญารับจ้างสำรวจและประเมินราคาทรัพย์สิน และหนังสือค้ำประกัน เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2548 จำเลยที่ 1 ประเมินราคาทรัพย์สินรายนางลลิตาพรรณ โดยจำเลยที่ 1 รายงานว่าหลักประกันที่ดินโฉนดเลขที่ 22595 เนื้อที่ 1,005.6 ตารางวา เป็นที่ดินเปล่า จำเลยที่ 1 ประเมินราคาที่ดินตารางวาละ 12,000 บาท เป็นเงิน 12,067,200 บาท โจทก์ใช้ราคาประเมินของจำเลยที่ 1 อนุมัติขายที่ดินแปลงดังกล่าวไปในราคา 11,100,000 บาท ต่อมาโจทก์ตรวจสอบหลักประกันย้อนหลังใหม่ในช่วงเวลาเดียวกับที่จำเลยที่ 1 ประเมินได้ราคาตารางวาละ 20,000 บาท เนื้อที่ 1,005.6 ตารางวา เป็นเงิน 20,112,000 บาท ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 ประเมินราคาที่ดินต่ำกว่าเกณฑ์ที่โจทก์กำหนด จำเลยที่ 1 จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ในฐานะผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ไม่อุทธรณ์ คดีในส่วนของคู่ความดังกล่าวจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยที่ 6 ได้รับอนุญาตให้ฎีกาเพียงประการเดียวว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 6 หรือไม่ ที่จำเลยที่ 6 ฎีกาใจความว่า ตามหนังสือของโจทก์ลงวันที่ 10 เมษายน 2560 ถึงจำเลยทั้งหก (ที่ถูก จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5) ขอให้ชำระค่าเสียหายตามสัญญารับจ้างสำรวจและประเมินราคาทรัพย์สิน จำเลยที่ 1 ยังไม่ถือว่าผิดนัดจนกว่าจะครบกำหนดระยเวลาตามหนังสือฉบับดังกล่าวดังนั้น หนังสือขอให้ชำระเงินตามภาระหนี้ค้ำประกันฉบับลงวันที่ 10 เมษายน 2560 ที่โจทก์ส่งถึงจำเลยที่ 6 ไปในคราวเดียวกันจึงไม่ใช่หนังสือบอกกล่าวผิดนัดไปยังผู้ค้ำประกันเมื่อลูกหนี้ผิดนัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 686 โจทก์ยังไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 6 ชำระหนี้ก่อนที่จะมีหนังสือบอกกล่าวผู้ค้ำประกันตามกฎหมาย กรณียังไม่ถือว่าโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิ โจทก์ไม่สามารถใช้สิทธิทางศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ในการฟ้องให้จำเลยที่ 6 รับผิดต่อโจทก์ในมูลหนี้ดังกล่าวได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 6 นั้น เห็นว่า กรณีจะถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดได้ก็ต่อเมื่อโจทก์ได้ให้คำเตือนแล้วโดยกำหนดเวลาให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แต่จำเลยที่ 1 ยังไม่ชำระตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 204 วรรคหนึ่ง ข้อเท็จจริงปรากฏตามหนังสือขอให้ชำระค่าเสียหายตามสัญญารับจ้างสำรวจและประเมินราคาทรัพย์สินของโจทก์ ลงวันที่ 10 เมษายน 2560 พร้อมไปรษณีย์ตอบรับ ว่าโจทก์กำหนดเวลาให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ ภายใน 30 วัน นับแต่วันรับหนังสือ และได้ความจากจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 เบิกความว่า จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือดังกล่าวเมื่อต้นเดือนเมษายน 2560 แล้วมีหนังสือโต้ตอบให้โจทก์ทบทวนเรื่องความเสียหาย จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคม 2560 อันเป็นการผิดนัดภายหลังวันที่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 มีผลใช้บังคับ แม้สัญญารับจ้างสำรวจและประเมินราคาทรัพย์สินกับสัญญาค้ำประกัน จะทำขึ้นก่อนวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับก็ตาม แต่มาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวก็ได้บัญญัติไว้ว่า ในกรณีที่ลูกหนี้ผิดนัดนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ สิทธิและหน้าที่ของเจ้าหนี้และผู้ค้ำประกัน ให้เป็นไปตามมาตรา 686 แห่งประมวลกฎหมายแพ่ง-และพาณิชย์ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ดังนั้น สิทธิและหน้าที่ของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้และจำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกัน จึงต้องเป็นไปตามมาตรา 686 วรรคหนึ่งซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติดังกล่าว ที่บัญญัติว่า เมื่อลูกหนี้ผิดนัด ให้เจ้าหนี้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด... แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์มีหนังสือถึงจำเลยที่ 6 ลงวันที่ 10 เมษายน 2560 ขอให้ชำระเงินตามภาระหนี้ค้ำประกัน โดยหนังสือฉบับดังกล่าวออกไปในคราวเดียวกันกับหนังสือที่แจ้งให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ชำระหนี้ หลังจากนั้นไม่ปรากฏว่าโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวใด ๆ ไปยังจำเลยที่ 6 อีก กรณีจึงเป็นหนังสือบอกกล่าวที่โจทก์ให้จำเลยที่ 6 ชำระหนี้ก่อนวันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด ถือไม่ได้ว่าหนังสือดังกล่าวเป็นหนังสือบอกกล่าวตามมาตรา 686 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์ไม่มีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 6 ผู้ค้ำประกันภายในหกสิบวันนับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ลูกหนี้ชั้นต้นผิดนัดตามบทบัญญัติดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 6 ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าการที่โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวถึงจำเลยที่ 6 ขอให้ชำระหนี้ค้ำประกันไปในคราวเดียวกัน ถือได้ว่าเป็นหนังสือบอกกล่าวซึ่งมีข้อความแจ้งว่าลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ เป็นการบอกกล่าวตามมาตรา 686 วรรคหนึ่ง แล้วนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 6 ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 6 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 6 ทั้งสามศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น