ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจสอบสวนคดีพรากผู้เยาว์ต่อเนื่องในหลายท้องที่ และการพิจารณาคดีที่ยังไม่สมบูรณ์
การพรากผู้เยาว์ตาม ป.อ. มาตรา 319 กฎหมายมุ่งคุ้มครองอำนาจปกครองของบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล มิใช่ตัวผู้เยาว์ผู้ถูกพราก เพื่อมิให้ผู้ใดมาก่อการรบกวนหรือกระทำการใด ๆ อันเป็นการกระทบกระทั่งต่ออำนาจปกครองไม่ว่าโดยตรงหรือปริยาย ทั้งกฎหมายไม่ได้จำกัดคำว่าพรากไปโดยวิธีการอย่างใดและไม่ว่าผู้เยาว์เป็นฝ่ายออกไปจากบ้านเองหรือมีผู้ชักนำก็ย่อมเป็นความผิด จำเลยเป็นผู้แจ้งแก่ผู้เยาว์ขณะอยู่กับโจทก์ร่วมที่จังหวัดอุบลราชธานีว่า หาที่พักได้แล้วที่ เอส.ที.แมนชั่น ผู้เยาว์จึงหนีออกจากบ้านของโจทก์ร่วมเดินทางไปหาจำเลยที่กรุงเทพมหานคร ถือได้ว่าการกระทำของจำเลยกระทบกระเทือนต่ออำนาจปกครองของโจทก์ร่วมที่จังหวัดอุบลราชธานีแล้ว จำเลยไม่ต้องเดินทางมาที่จังหวัดอุบลราชธานีด้วยตนเอง ผู้เยาว์เดินทางออกจากจังหวัดอุบลราชธานีซึ่งอยู่ในเขตอำนาจสอบสวนของสถานีตำรวจภูธรเมืองอุบลราชธานี เมื่อผู้เยาว์เดินทางมาถึงสถานีรถไฟดอนเมืองซึ่งอยู่ในเขตอำนาจสอบสวนของสถานีตำรวจนครบาลดอนเมือง จากนั้นจำเลยพาผู้เยาว์ไปที่ เอส.ที.แมนชั่น เขตวังทองหลาง กรุงเทพมหานคร ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจสอบสวนของสถานีตำรวจนครบาลวังทองหลาง เมื่อผู้เยาว์เดินทางไปในหลายท้องที่ต่างกันจึงเป็นกรณีไม่แน่ว่าการกระทำความผิดได้กระทำในท้องที่ใดระหว่างหลายท้องที่และเป็นความผิดต่อเนื่องและกระทำต่อเนื่องกันในท้องที่ต่าง ๆ เกินกว่าท้องที่หนึ่งขึ้นไป พนักงานสอบสวนในท้องที่ใดท้องที่หนึ่งที่เกี่ยวข้องจึงมีอำนาจสอบสวนได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 วรรคหนึ่ง (1), (3) และวรรคสอง ดังนั้น พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองอุบลราชธานีอันเป็นท้องที่ที่เกี่ยวข้องจึงมีอำนาจสอบสวนและเมื่อโจทก์ร่วมไปแจ้งความร้องทุกข์ที่สถานีตำรวจภูธรเมืองอุบลราชธานี พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองอุบลราชธานีซึ่งเป็นท้องที่ที่พบการกระทำความผิดอยู่ก่อนจึงเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบตามมาตรา 19 วรรคสาม (ข) มีอำนาจสรุปสำนวนและทำความเห็นควรสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องส่งไปพร้อมสำนวนเพื่อให้พนักงานอัยการพิจารณาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 140, 141 และ 142 ได้