โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินติดต่อกัน ต่างได้รับมฤดกจากพระยานครราชเสนี ใช้ถนนซอยซึ่งอยู่ในที่ของจำเลยมากว่า ๑๐ ปี และในสัญญาแบ่งมฤดกก็มีว่า ทางเดินรายนี้อยู่ในที่ดินของจำเลย จะปิดไม่ได้ จะให้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๗ จำเลยได้ปลูกสร้างรุกล้ำทางรายนี้ และให้คนอื่นเช่าตั้งโต๊ะและเก้าอี้เป็นการกีดขวางทาง จึงขอให้จำเลยรื้อสิ่งปลูกสร้างและสิ่งกีดขวางให้คืนสภาพเดิมและให้แยกถนนซอยนั้นออกเป็นที่สาธารณะ หรือให้จดทะเบียนที่ดินถนนซอยตามข้อสัญญาแบ่งมฤดก จำเลยให้การว่าทางนี้เดิมเป็นเจ้าของที่คนเดียวกัน จะนับอายุความมาใช้ในการนี้ไม่ได้ และข้อตกลงในการแบ่งมฤดกเกี่ยวกับช่องว่างรายพิพาทในสัญญาหมายความว่า ยอมให้ใช้ในฐานะเป็นเพียงทางเข้าออกโดยฉะเพาะ และในระหว่างคู่สัญญาหรือผู้เช่าผู้อาศัยของคู่สัญญาฝ่ายที่มีอาณาเขตต์ติดต่อกับที่จำเลยเท่านั้น และข้อตกลงนั้นไม่ได้จดทะเบียน ไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย
ศาลชั้นต้นฟังว่า ทางพิพาทมีมา ๓๐ ปี ไม่ใช่ทางสาธารณะ เพิ่งแบ่งแยกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๖ ยังไม่ครบ ๑๐ ปี แต่ตามสัญญาแบ่งมฤดกว่าจะไม่ปิดทางนี้ ยอมให้ผู้อื่นใช้เข้าออกได้ การที่จำเลยให้ผู้อื่นเช่าตั้งราน และตั้งสิ่งกีดขวางจึงไม่ชอบ พิพากษาให้จำเลยรื้อสิ่งปลูกสร้าง และสิ่งกีดขวางทางเดิน ฟ้องข้ออื่นให้ยก
โจทก์จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ทางรายนี้ตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์แล้ว พิพากษาแก้ให้จำเลยไปจดทะเบียน ทางรายพิพาทเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ นอกนั้นยืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า
(๑) ฎีกาข้อ ๓ ที่ว่า โจทก์ฟ้องอ้างว่าได้ภาระจำยอมโดยอายุความ ๑๐ ปี มิได้อ้างว่าได้มาโดยนิติกรรมนั้น ปรากฏว่าฟ้องของโจทก์ได้กล่าวอ้างมาทั้ง ๒ ประการ
(๒) ตามฎีกาข้อ ๔ นั้น ปรากฏว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมฤดก และเจ้าของภารยะทรัพย์ไปจดทะเบียนทางรายพิพาทเป็นภาระจำยอม ฉะนั้น แม้จะถือว่าจะบังคับจำเลยในฐานะผู้จัดการมฤดกไม่ได้ ก็ยังคงบังคับจำเลยในฐานะเจ้าของภารยะทรัพย์ และเป็นคู่สัญญาในสัญญาแบ่งมฤดกให้จดทะเบียนทางภาระจำยอมได้ ข้อที่จำเลยว่าการจดทะเบียนจะต้องทำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายนั้น เห็นว่า จำเลยเป็นเจ้าของภารยะทรัพย์ผู้เดียว โจทก์ย่อมฟ้องขอให้บังคับจำเลยผู้เดียวได้ เพราะโจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาแบ่งมฤดกนั้นเองโดยตรง
คดีนี้การได้ภาระจำยอมของโจทก์ซึ่งเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ เป็นการได้มาโดยนิติกรรมทำเป็นหนังสือ แต่มิได้มีการจดทะเบียน จึงยังไม่บริบูรณ์ ตาม ป.ม.แพ่ง ฯ มาตรา ๑๒๙๙ โจทก์จึงจะฟ้องขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างในคดีนี้ยังไม่ได้
พิพากษาแก้คำบังคับที่ให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างให้ยกเสีย นอกนั้นยืนตาม