คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่า โจทก์ และเรียกจำเลยทั้งสองสำนวนว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ตามลำดับ
โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองสำนวนขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5, 13, 70, 118, 124, 144, 151, 158 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 และขอให้นับโทษจำคุกของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ทั้งสองสำนวนต่อจากกัน
จำเลยทั้งสี่ให้การรับสารภาพทั้งสองสำนวน
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 70 วรรคหนึ่งและวรรคสอง, 118 วรรคหนึ่ง, 144 วรรคหนึ่ง (1), 151 วรรคหนึ่งและวรรคสอง (ที่ถูก มาตรา 124, 151 วรรคสอง), 158 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันไม่จ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้าง ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 10,000 บาท ลงโทษจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จำคุกคนละ 2 เดือน และปรับคนละ 10,000 บาท ฐานร่วมกันไม่จ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้าง ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 10,000 บาท ลงโทษจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จำคุกคนละ 2 เดือน และปรับคนละ 10,000 บาท ฐานร่วมกันไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 กระทงละ 4,000 บาท รวม 2 กระทง เป็นปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 8,000 บาท ลงโทษจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จำคุกคนละ 3 เดือน และปรับคนละ 4,000 บาท รวม 2 กระทง เป็นลงโทษจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จำคุกคนละ 6 เดือน และปรับคนละ 8,000 บาท รวมลงโทษปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 28,000 บาท รวมลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 คนละ 10 เดือน และปรับคนละ 28,000 บาท จำเลยทั้งสี่ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 14,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 คนละ 5 เดือน และปรับคนละ 14,000 บาท จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ประกอบกับลักษณะการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นการกระทำเพียงเจตนาไม่จ่ายค่าจ้างและค่าชดเชยแก่ลูกจ้างซึ่งพฤติการณ์แห่งคดียังไม่ร้ายแรง สมควรรอการลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ไว้มีกำหนดคนละ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และหากจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อนั้น เนื่องจากศาลได้รวมพิจารณาคดีทั้งสองสำนวนและพิพากษาคดีไปพร้อมกัน จึงไม่อาจนับโทษต่อได้ ยกคำขอให้นับโทษต่อ
โจทก์ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 124, 151 วรรคสอง, 158 ไม่ยกคำขอนับโทษต่อของโจทก์ ความผิดฐานร่วมกันไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายให้ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 10,000 บาท รวม 2 กระทง ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 คนละ 2 เดือน และปรับคนละ 10,000 บาท รวม 2 กระทง เมื่อรวมกับโทษของจำเลยทั้งสี่ในฐานร่วมกันไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย กับโทษของจำเลยที่ 1 และที่ 4 ในฐานร่วมกันไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน รวม 2 กระทง ตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดแล้ว เป็นลงโทษปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 38,000 บาท ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 6 เดือน และปรับคนละ 30,000 บาท ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 4 เป็นเวลา 1 ปี และปรับ 38,000 บาท ลดโทษให้จำเลยทั้งสี่คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 19,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 3 เดือนและปรับคนละ 15,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 4 เป็นเวลา 6 เดือน และปรับ 19,000 บาท ไม่รอการลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 กับไม่รอการลงโทษจำคุกจำเลยที่ 4 ในความผิดฐานร่วมกันไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายกับความผิดฐานร่วมกันไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย (รวมโทษจำคุก 3 เดือน) ฟ้องโจทก์นอกจากนี้ให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำหรับความผิดฐานร่วมกันไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน เมื่อศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 4 และยกฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เมื่อโจทก์ไม่ฎีกา ความผิดฐานนี้จึงยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ และที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ฎีกาขอให้รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ในความผิดฐานร่วมกันไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และฐานร่วมกันไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายนั้น ก่อนที่จะวินิจฉัยฎีกาดังกล่าว เห็นควรวินิจฉัยเสียก่อนว่าจำเลยที่ 4 กระทำความผิดฐานร่วมกันไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และความผิดฐานร่วมกันไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายตามฟ้องโจทก์ หรือไม่ เห็นว่า ความผิดฐานร่วมกันไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 70 วรรคหนึ่ง, 144 วรรคหนึ่ง (1) การกระทำความผิดจะเกิดขึ้นเมื่อนายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างตามกำหนดเวลาที่ได้ตกลงกันไว้ ส่วนความผิดฐานร่วมกันไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคหนึ่ง, 144 วรรคหนึ่ง (1) การกระทำความผิดจะเกิดขึ้นเมื่อนายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้าง เมื่อข้อเท็จจริงได้ความตามที่โจทก์บรรยายมาในฟ้องทั้งสองสำนวนว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ในช่วงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2556 ถึงวันที่ 5 ตุลาคม 2559 ส่วนจำเลยที่ 4 เข้ามาเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ในช่วงวันที่ 6 ตุลาคม 2559 ถึงวันที่ 21 มกราคม 2561 ค่าจ้างของลูกจ้างรายเดือน 17 คน เดือนสิงหาคม 2559 กำหนดชำระวันที่ 5 กันยายน 2559 และเดือนกันยายน 2559 กำหนดชำระวันที่ 5 ตุลาคม 2559 ค่าจ้างของลูกจ้างรายวัน 70 คน เดือนสิงหาคม 2559 กำหนดชำระวันที่ 5 กันยายน 2559 และเดือนกันยายน 2559 กำหนดชำระภายในวันที่ 20 กันยายน 2559 และเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2559 (วันเลิกจ้าง) จำเลยทั้งสี่ไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างทั้ง 87 คน จะเห็นได้ว่า วันกำหนดชำระค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างรายเดือนและรายวัน เดือนสิงหาคม 2559 และเดือนกันยายน 2559 และวันที่นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างแก่ลูกจ้างดังกล่าวตามฟ้อง อันเป็นวันกระทำความผิดนั้น มีเพียงจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 4 เข้ามาเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2559 ซึ่งเป็นวันภายหลังจากวันที่ความผิดได้เกิดขึ้นแล้ว จำเลยที่ 4 จึงไม่มีความผิดฐานร่วมกันไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และความผิดฐานร่วมกันไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย แม้จำเลยที่ 4 จะให้การรับสารภาพ ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 4 ในความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวนี้ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225
คดีจึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาเพียงว่า สมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 หรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นนายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างและค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างทั้ง 87 คน ที่มีสิทธิได้รับจากการทำงานและตามกฎหมาย นอกจากจะทำให้ลูกจ้างได้รับความเดือดร้อนจากการที่ไม่ได้รับเงินดังกล่าวเพื่อนำไปใช้ในการดำรงชีพแล้ว ยังอาจส่งผลกระทบไปถึงบุคคลในครอบครัวของลูกจ้างทั้ง 87 คนดังกล่าวด้วย การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายที่บัญญัติขึ้นเพื่อคุ้มครองสิทธิของลูกจ้าง เพื่อให้การใช้แรงงานเป็นไปอย่างเป็นธรรม ได้รับค่าตอบแทนในการทำงานและสวัสดิการตามสมควร พฤติการณ์แห่งคดีนับว่าเป็นเรื่องร้ายแรง ส่วนที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 กล่าวอ้างมาในฎีกาว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ทำสัญญาจะซื้อขายกิจการของจำเลยที่ 1 ให้แก่นายวิวัฒน์ และนายวิวัฒน์ ได้เข้ามาบริหารกิจการของจำเลยที่ 1 แต่เกิดข้อพิพาทเรื่องการผิดสัญญาจะซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 2 และที่ 3 กับนายวิวัฒน์ จนกระทั่งมีการฟ้องร้องเป็นคดีที่ศาลชั้นต้นนั้น ก็เป็นเรื่องระหว่างจำเลยที่ 2 และที่ 3 กับนายวิวัฒน์ หาใช่เหตุที่จะทำให้ไม่ต้องจ่ายเงินค่าจ้างและค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างดังกล่าว และที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 กล่าวอ้างมาในฎีกาอีกว่า จะถอนเงิน 6,110,000 บาท ที่วางไว้ในคดีที่ฟ้องร้องกับนายวิวัฒน์ที่ศาลชั้นต้น หรือเงินที่เคยวางไว้ที่ศาลแรงงานกลาง ได้นำไปจ่ายแก่ลูกจ้างนั้น ก็ล้วนแต่ไม่ใช่เหตุผลเพียงพอที่จะรับฟังเพื่อรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฟังไม่ขึ้น และเมื่อไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงเห็นควรไม่ลงโทษปรับจำเลยที่ 2 และที่ 3
อนึ่ง โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 กระทำความผิดฐานไม่จ่ายค่าจ้างเดือนสิงหาคม 2559 ต่อลูกจ้างแต่ละคน 87 กรรม ค่าจ้างเดือนกันยายน 2559 ต่อลูกจ้างแต่ละคน 87 กรรม และไม่จ่ายค่าชดเชยต่อลูกจ้างแต่ละคน 87 กรรม เมื่อลูกจ้างแต่ละคนมีสิทธิที่จะได้รับค่าจ้างและค่าชดเชยจากจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นนายจ้างแต่ละคนแยกเป็นราย ๆ ไป แม้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 จะกระทำต่อลูกจ้างทั้ง 87 คน ในคราวเดียวกัน แต่เป็นการกระทำที่มีเจตนาต่อลูกจ้างตามที่มีสิทธิได้รับแต่ละคนโดยเฉพาะ การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นความผิดหลายกรรมตามจำนวนลูกจ้างแต่ละคน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าเป็นความผิดกรรมเดียว เป็นการไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้โจทก์มิได้ฎีกาโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และคดีสำหรับจำเลยที่ 1 จะยุติไปแล้ว แต่คดียังไม่ถึงที่สุด ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 แต่ไม่อาจพิพากษาลงโทษครบทุกกรรมเป็นกระทงความผิดได้ เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย ซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225 และแม้ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาได้มีพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 มาตรา 11 ยกเลิกความในมาตรา 70 และมาตรา 14 ยกเลิกความใน (5) ของมาตรา 118 และมาตรา 20 ให้ยกเลิกความใน (1) ของมาตรา 144 และมาตรา 21 ให้ยกเลิกความใน (2) ของมาตรา 144 และมาตรา 24 ให้ยกเลิกความในวรรคสองของมาตรา 151 โดยข้อความที่ยกเลิกให้ใช้ข้อความใหม่แทน และมาตรา 15 ให้เพิ่มข้อความใหม่เป็น (6) ของมาตรา 118 ก็ตาม แต่ระวางโทษเท่าเดิม กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณ จึงต้องใช้กฎหมายเดิม ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3
พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ในความผิดฐานร่วมกันไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ค่าจ้างเดือนสิงหาคม 2559 รวม 87 กรรม ค่าจ้างเดือนกันยายน 2559 รวม 87 กรรม และฐานร่วมกันไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน รวม 87 กรรม ไม่ลงโทษปรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ส่วนโทษจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 และโทษปรับจำเลยที่ 1 ทุกฐานความผิดให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ (ปรับจำเลยที่ 1 จำนวน 19,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 3 เดือน ไม่รอการลงโทษจำคุก) ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 ในความผิดฐานร่วมกันไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และฐานร่วมกันไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ส่วนโทษจำเลยที่ 4 ในความผิดฐานร่วมกันไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น (จำคุกจำเลยที่ 4 มีกำหนด 3 เดือน ปรับ 4,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี) และนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์