คดีทั้งสี่สำนวนนี้ เดิมศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ก.9/2561 ของศาลชั้นต้นโดยให้เรียกโจทก์ทั้งสี่สำนวนว่า โจทก์ เรียกจำเลยทั้งสี่สำนวนว่า จำเลย เรียกผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 สำนวนแรกว่า ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 ตามลำดับ เรียกผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 6 สำนวนที่สองว่า ผู้ร้องที่ 4 ถึงที่ 9 ตามลำดับ เรียกผู้ร้องสำนวนที่สามว่า ผู้ร้องที่ 10 และเรียกผู้ร้องสำนวนที่สี่ว่า ผู้ร้องที่ 11 แต่คดีสำหรับผู้ร้องที่ 4 ถึงที่ 11 ถึงที่สุดโดยคู่ความมิได้ยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกาและได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา คงขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาเฉพาะคดีนี้
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมโดยจำเลยตกลงชำระหนี้ให้แก่โจทก์ 9,225,124.17 บาท ภายในวันที่ 30 เมษายน 2557 หากจำเลยผิดสัญญาให้โจทก์บังคับคดีได้ทันที ยินยอมชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 9,000,000 บาท นับจากวันผิดสัญญาจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้นำทรัพย์จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 160025 ออกขายทอดตลาดนำเงินในส่วนกรรมสิทธิ์ของจำเลยมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน จำเลยไม่ชำระหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาตามยอม ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดี โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 160025 เพื่อขายทอดตลาดนำเงินในส่วนของจำเลยมาชำระหนี้แก่โจทก์ ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่ผู้ซื้อในราคา 30,000,000 บาท
ผู้ร้องทั้งสิบเอ็ดยื่นคำร้องทั้งสี่สำนวนและแก้ไขคำร้องสำนวนแรกขอให้มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีกันส่วนเงินขายทอดตลาดที่ดินแปลงดังกล่าวมาชำระให้แก่ผู้ร้องทั้งสิบเอ็ดคนละ 1 ใน 25 ส่วน และในส่วนของนางสุวรรณีแก่ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 อีกคนละ 1 ใน 4 ส่วน และในส่วนของนางแจ้เตียงแก่ผู้ร้องที่ 10 จำนวน 1 ใน 5 ส่วน ก่อนเจ้าหนี้รายอื่นรวมทั้งโจทก์
โจทก์ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ร้องทั้งสิบเอ็ดอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 ฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่าในการบังคับคดีนี้ เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2557 โจทก์ได้นำยึดที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 160025 มีชื่อจำเลย นายชัยพร นายชัยณรงค์ และผู้ร้องที่ 5 ถือกรรมสิทธิ์รวม เพื่อนำออกขายทอดตลาดชำระหนี้ตามคำพิพากษาในมูลหนี้จำนองและกู้ยืมเงิน วันที่ 19 เมษายน 2560 เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินพิพาทได้ในราคา 30,000,000 บาท ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 อ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกส่วนหนึ่งของนายเอี่ยม วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2545 ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 และทายาทอื่นของนายเอี่ยมได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมให้แบ่งที่ดินพิพาทและทรัพย์มรดกอื่นออกเป็น 25 ส่วน โดยผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 จำเลยและทายาทอื่นมีสิทธิได้รับคนละ 1 ใน 25 ส่วน และผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 ได้รับอีกคนละ 1 ใน 4 ส่วน ของทรัพย์มรดกส่วนของนางสุวรรณ ทายาทคนหนึ่งของนายเอี่ยม วันที่ 15 สิงหาคม 2555 จำเลยจดทะเบียนจำนองเฉพาะส่วนของตนกับโจทก์เพื่อประกันหนี้เงินกู้ยืมอันเป็นมูลหนี้ตามฟ้องคดีนี้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 ได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 มีสิทธิขอกันส่วนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทหรือไม่ เห็นว่า ข้อที่ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 ฎีกาว่า การที่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนางสายจดทะเบียนรับโอนที่ดินพิพาทเป็นของตนเองและจดทะเบียนจำนองต่อโจทก์เกินจากส่วนที่จำเลยได้รับตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 18906/2538 คดีหมายเลขแดงที่ 1483/2545 เป็นการทำนิติกรรมซึ่งตนมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1722 นั้น เป็นข้อที่ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 มิได้กล่าวอ้างตั้งเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ในคำร้อง และนำสืบไว้ จึงเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 และมาตรา 252 ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ส่วนปัญหาว่าผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 มีสิทธิยื่นคำร้องขอกันส่วนจากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทเพราะเหตุจำเลยไม่ใช่เจ้าของที่ดินพิพาทในส่วนของผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 หรือไม่นั้น เห็นว่า แม้เดิมสิทธิตามส่วนในที่ดินพิพาทของผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นสิทธิที่ได้มาจากการรับมรดกจากนายเอี่ยมซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทที่แท้จริงตามที่ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 กล่าวอ้างอันเป็นการได้มาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง ก็ตาม แต่เมื่อต่อมาผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 จำเลยและทายาทอื่นของนายเอี่ยมได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาตามยอมในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 18906/2538 คดีหมายเลขแดงที่ 1483/2545 ให้ได้รับมรดกที่ดินพิพาทคนละ 1 ใน 25 ส่วน และผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 ได้รับอีกคนละ 1 ใน 4 ส่วน ของส่วนที่ตกได้แก่นางสุวรรณี ย่อมมีผลทำให้การเรียกร้องในทรัพย์มรดกในฐานะทายาทโดยธรรมของนายเอี่ยมระงับสิ้นไปและทำให้ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 และทายาทอื่นได้สิทธิในที่ดินพิพาทตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 852 สิทธิของผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 ตามส่วนในที่ดินพิพาทที่ได้มาตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมดังกล่าวเป็นการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยนิติกรรม เมื่อยังมิได้จดทะเบียนการได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ปรากฏชื่อผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 ในทะเบียนที่ดิน สิทธิของผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 จึงยังไม่บริบูรณ์เป็นทรัพย์สิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง สัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมคงมีผลผูกพันและบังคับกันได้ระหว่างคู่กรณีตามสัญญาประนีประนอมยอมความในฐานะบุคคลสิทธิ โดยไม่อาจกล่าวอ้างหรือบังคับแก่โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ การที่จำเลยนำที่ดินพิพาทในส่วนที่ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 ได้รับตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่โจทก์ในขณะที่สิทธิของผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 ยังไม่บริบูรณ์เป็นทรัพยสิทธินั้น โดยยังคงให้ปรากฏชื่อจำเลยเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทในส่วนที่เป็นของผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 จะอ้างบทบัญญัติมาตรา 705 ซึ่งบัญญัติให้การจำนองกระทำได้โดยเจ้าของทรัพย์สินเท่านั้นเพื่อมิให้สัญญาจำนองระหว่างโจทก์กับจำเลยมีผลผูกพันที่ดินพิพาทในส่วนของผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 อันมีผลเป็นการบังคับโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกหาได้ไม่ ส่วนผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยเพียงใด ก็เป็นเรื่องที่ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 ต้องไปว่ากล่าวแก่จำเลยเป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหาก ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 จึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอกันส่วนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ