โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 288, 371
จำเลยให้การต่อสู้อ้างเหตุป้องกัน
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 69, 371 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานฆ่าผู้อื่นโดยป้องกันเกินกว่ากรณีแห่งความจำเป็นต้องกระทำเพื่อป้องกัน จำคุก 8 ปี ฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ปรับ 1,000 บาท รวมจำคุก 8 ปี และปรับ 1,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 ปี และปรับ 750 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบมีดของกลาง คืนกระเป๋าสะพายและผ้าขนหนู ของกลางแก่เจ้าของ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งในชั้นนี้ว่า นางสาวมณีรัตน์ นางสาวมรกต จำเลย นายกฤษฎา และนายสมศักดิ์ เป็นลูกจ้างของร้านหละลีเลี้ยวขัว ที่เกิดเหตุ ซึ่งเป็นร้านอาหารและมีผับหรือสถานบันเทิงอยู่ในบริเวณเดียวกัน มีนางสาวมณีรัตน์เป็นผู้จัดการ นางสาวมรกตเป็นพนักงานต้อนรับ ส่วนจำเลย นายกฤษฎาและนายสมศักดิ์เป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย มีหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยในร้านอาหารที่เกิดแหตุ วันเกิดเหตุวันที่ 30 กรกฎาคม 2560 เวลาประมาณ 0.10 นาฬิกา นายอนุรักษ์ ผู้ตายขับรถกระบะมาที่ร้านที่เกิดเหตุ แล้วเดินเข้าไปในร้านคล้ายคนเมาสุราเอะอะโวยวาย คนในร้านห้ามไม่ให้ผู้ตายเข้าไปในร้าน และบอกให้ผู้ตายกลับไป ผู้ตายมีท่าทางไม่พอใจแล้วขับรถกระบะออกไป ต่อมาเวลาประมาณ 1 นาฬิกา ผู้ตายสวมชุดเดิมแต่ใช้ผ้าปิดจมูกและปากขับรถจักรยานยนต์กลับเข้ามายังร้านที่เกิดเหตุเร่งเครื่องยนต์วนอยู่หน้าร้าน 2 รอบ นางสาวมรกตเห็นเหตุการณ์ จึงแจ้งให้นางสาวมณีรัตน์ทราบ นางสาวมณีรัตน์เดินออกมาดูเหตุการณ์พร้อมแจ้งให้นายกฤษฎาออกไปช่วยดูแลความปลอดภัย นายกฤษฎาจึงไปบอกนายสมศักดิ์และจำเลยให้มาช่วย ขณะที่นางสาวมณีรัตน์และนายกฤษฎายืนดูเหตุการณ์อยู่หน้าร้านที่เกิดเหตุบริเวณร่มสีแดง ผู้ตายขับรถจักรยานยนต์มาจอดในร้านที่เกิดเหตุห่างจากจุดที่นายกฤษฎายืนอยู่ประมาณ 1 เมตร แล้วผู้ตายชักอาวุธปืน ออกมาเล็งยิงไปที่นายกฤษฎา นายกฤษฎาก้มตัวหลบข้างกระถางต้นไม้ ส่วนนางสาวมณีรัตน์วิ่งหลบเข้าไปในร้านพร้อมตะโกนบอกว่าผู้ตายมีอาวุธปืน นางสาวมรกตเห็นผู้ตายถืออาวุธปืนจ้องเข้ามาในร้านที่เกิดเหตุจึงรีบวิ่งหลบเข้าไปที่หลังร้าน ขณะเดียวกันนายสมศักดิ์ซึ่งอยู่นอกร้านใกล้ปากทางออกร้านห่างจากผู้ตาย 5 ถึง 10 เมตร เห็นผู้ตายชักอาวุธปืนออกมาเล็งไปทางร้าน นายสมศักดิ์ได้ยินเสียงปืนดังแป๊ก แล้วผู้ตายเก็บอาวุธปืนและขับรถจักรยานยนต์กำลังจะหลบหนีออกจากร้านที่เกิดเหตุ นายสมศักดิ์ นายกฤษฎาและจำเลยช่วยกันจับกุมและแย่งอาวุธปืนจากผู้ตาย ระหว่างนั้นจำเลยใช้มีดปอกผลไม้ปลายแหลมความยาวรวมด้ามประมาณ 10 นิ้ว ที่หยิบติดตัวมาจากห้องครัว แทงผู้ตายถูกที่บริเวณหน้าอกซ้าย เป็นเหตุให้ผู้ตายได้รับบาดเจ็บสาหัสและถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา หลังเกิดเหตุร้อยตำรวจเอกชราวุธ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองสระบุรี เดินทางไปตรวจสถานที่เกิดเหตุ ทำบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุและแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุ แล้วรวบรวมพยานหลักฐานและยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายจับจำเลย ครั้นวันที่ 30 กรกฎาคม 2560 เวลาประมาณ 18 นาฬิกา จำเลยเข้าพบเจ้าพนักงานตำรวจที่สถานีตำรวจภูธรเมืองสระบุรีแล้วถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมและกล่าวหาเป็นคดีนี้
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า การกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกันตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า ก่อนเกิดเหตุผู้ตายขับรถจักรยานยนต์มาจอดยังร้านที่เกิดเหตุห่างจากจุดที่นายกฤษฎายืนอยู่ประมาณ 1 เมตร และชักอาวุธปืนออกมาเล็งยิงไปที่นายกฤษฎาจนนายกฤษฎาก้มตัวหลบข้างกระถางต้นไม้ แล้วผู้ตายยังถืออาวุธปืนจ้องเข้าไปในร้านที่เกิดเหตุและนายสมศักดิ์ได้ยินเสียงปืนดังแป๊ก อันถือว่าภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายได้เกิดขึ้นแล้ว แม้ผู้ตายเก็บอาวุธปืนและขับรถจักรยานยนต์กำลังจะหลบหนีออกไปจากร้านที่เกิดเหตุ แต่ผู้ตายมีอาการเมาสุราและมีอาวุธปืนติดตัวอยู่ ย่อมเป็นเหตุให้บุคคลที่อยู่บริเวณนั้นเข้าใจได้ว่าผู้ตายอาจนำอาวุธปืนไปก่อเหตุเป็นภยันตรายแก่ผู้อื่นได้ ภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายดังกล่าวของจำเลยจึงยังมิได้หมดไปเสียทีเดียว ดังนี้ การที่นายสมศักดิ์ซึ่งยืนอยู่ใกล้บริเวณทางออกคว้าคอผู้ตายขณะที่ผู้ตายขับรถจักรยานยนต์แล่นผ่านจนผู้ตายและรถจักรยานยนต์ของผู้ตายล้มลง แล้วกอดปล้ำแย่งอาวุธปืนจากผู้ตาย โดยมีนายกฤษฎาและจำเลยวิ่งเข้าไปช่วยกันล็อกตัวและชกต่อยผู้ตาย นับเป็นการกระทำอันสมควรเพื่อเป็นการป้องกันสิทธิของผู้อื่นให้พ้นจากภยันตรายอันเกิดจากการกระทำของผู้ตาย แต่เมื่อผู้ตายถูกชกต่อยจนได้รับบาดเจ็บและไม่อยู่ในสภาพที่จะต่อสู้กับพวกของจำเลยซึ่งมีถึง 3 คน ได้ ก็น่าจะเป็นการเพียงพอที่จะหยุดภยันตรายที่จำเลยก่อขึ้นได้แล้ว การที่จำเลยกลับเลือกใช้วิธีป้องกันเพิ่มขึ้นโดยการใช้มีดแทงผู้ตายบริเวณหน้าอกซ้ายของผู้ตายซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญที่อาจทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตายได้ เช่นนี้เป็นการใช้วิธีป้องกันไม่เหมาะสมแก่พฤติการณ์ในเรื่องการจับตัวและแย่งอาวุธปืนจากผู้ตาย ถือว่าเป็นการป้องกันเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 69 การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 69 แต่สำหรับความผิดฐานพาอาวุธมีดนั้น ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยหยิบมีดปอกผลไม้ปลายแหลมมาจากห้องครัวภายในร้านที่เกิดเหตุและใช้แทงผู้ตายบริเวณด้านหน้าร้านภายในบริเวณร้านที่เกิดเหตุ ยังมิได้ออกไปนอกร้านสู่ทางสาธารณะ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุ ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน อย่างไรก็ดีจำเลยได้นำเงินค่าเสียหายจำนวน 30,000 บาท มาวางศาลเพื่อชดใช้ให้แก่ฝ่ายผู้ตายและมารดาของผู้ตายได้มารับไปจากศาลแล้ว แสดงว่าจำเลยรู้สึกสำนึกผิดและพยายามบรรเทาผลร้าย กรณีมีเหตุอันควรปรานีลงโทษจำเลยสถานเบา
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 69 ฐานฆ่าผู้อื่นโดยป้องกันเกินกว่ากรณีแห่งความจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน จำคุก 4 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสามคงจำคุก 2 ปี 8 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1