โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 282 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 4, 9, 11 และคืนธนบัตรของกลางแก่เจ้าของ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 282 วรรคสาม พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 9 วรรคสาม การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 10 ปี ชั้นจับกุมจำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 ปี 8 เดือน คืนธนบัตรของกลางแก่เจ้าของ ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดข้อหาเป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือชักพาไปซึ่งเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี เพื่อให้บุคคลนั้นกระทำการค้าประเวณีหรือไม่ โจทก์มีพันตำรวจตรีไพฑูล จ่าสิบตำรวจสุเมฆ และสิบตำรวจตรีณรงค์ เจ้าพนักงานตำรวจผู้ร่วมจับกุมเบิกความเป็นพยานว่า วันเกิดเหตุพันตำรวจตรีไพฑูลได้รับแจ้งจากสายลับว่ามีการค้าประเวณีที่ร้าน อินแฟนทรีคาราโอเกะ จึงให้สายลับพาไปดูที่ร้านดังกล่าว แล้ววางแผนจับกุมโดยนำธนบัตรฉบับละ 500 บาท 2 ฉบับ ไปถ่ายสำเนาไว้แล้วมอบธนบัตรดังกล่าวให้จ่าสิบตำรวจสุเมฆและสิบตำรวจตรีณรงค์ ปลอมเป็นลูกค้าร้านดังกล่าวเพื่อซื้อบริการทางเพศ จ่าสิบตำรวจสุเมฆและสิบตำรวจตรีณรงค์ไปถึงร้านที่เกิดเหตุพบจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของร้าน แจ้งแก่จำเลยว่าต้องการเด็กหญิงอายุไม่เกิน 15 ปี ไปร่วมหลับนอน จำเลยเรียกนางสาวสลัลญาและเด็กหญิงกาญจนามาให้ดู และบอกว่าค่าจ้างร่วมหลับนอนคนละ 1,000 บาท สิบตำรวจตรีณรงค์มอบธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อบริการทางเพศให้แก่จำเลยแล้วพาเด็กหญิง ก. ออกจากร้านที่เกิดเหตุ ส่วนจ่าสิบตำรวจสุเมฆกับนางสาวสลัลญายังคงอยู่ที่ร้านที่เกิดเหตุ สิบตำรวจตรีณรงค์พาเด็กหญิง ก. ไปพบพันตำรวจตรีไพฑูล แจ้งว่าล่อซื้อบริการค้าประเวณีได้แล้ว พันตำรวจตรีไพฑูล กับพวกไปยังร้านที่เกิดเหตุ พบจำเลยจึงแสดงตัวเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ การตรวจค้นพบธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อบริการอยู่ในลิ้นชักที่เคาน์เตอร์ จึงจับกุมจำเลยและแจ้งข้อหาว่าเป็นเจ้าของกิจการการค้าประเวณี ผู้ดูแลหรือผู้จัดการการค้าประเวณีหรือสถานการค้าประเวณี หรือเป็นผู้ควบคุมผู้กระทำการค้าประเวณีในสถานการค้าประเวณี จำเลยให้การรับสารภาพ พยานโจทก์ทั้งสามเป็นเจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติการตามหน้าที่และไม่ปรากฏว่าเคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน จึงไม่มีเหตุให้ระแวงว่าจะเบิกความปรักปรำจำเลย ประกอบกับจำเลยให้การรับในชั้นสอบสวน ว่า จำเลยเป็นผู้ดูแลกิจการร้านที่เกิดเหตุตั้งแต่ประมาณปี 2537 จำเลยเป็นผู้จัดหานางสาวสลัลญาและเด็กหญิง ก. ให้แก่จ่าสิบตำรวจสุเมฆและสิบตำรวจตรีณรงค์ กับเป็นผู้รับเงินของกลางเป็นค่าค้าประเวณีของนางสาวกาญจนา คำรับของจำเลยจึงมีน้ำหนักในการรับฟังประกอบพยานหลักฐานโจทก์ นอกจากนี้โจทก์ยังมีนางสาวสลัลญาและเด็กหญิงกาญจนาเบิกความเป็นพยาน คำเบิกความของนางสาวสลัลญาและเด็กหญิง ก. ซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดด้วยแม้มีลักษณะเป็นคำซัดทอด แต่ก็มิได้เป็นเรื่องปัดความผิดของนางสาวสลัลญาและเด็กหญิง ก. ให้เป็นความผิดแต่เฉพาะจำเลย ทั้งไม่มีเหตุจูงใจที่นางสาวสลัลญาและเด็กหญิง ก. จะเบิกความเพื่อให้ตนได้รับประโยชน์จากคำเบิกความดังกล่าว จึงรับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ได้ พยานหลักฐานโจทก์ประกอบกันมีน้ำหนักมั่นคง ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่ใช่เจ้าของร้านที่เกิดเหตุนั้น จำเลยเบิกความตอบคำถามค้านรับว่า จำเลยเป็นผู้ขออนุญาตขายสุราและยาสูบที่ร้านที่เกิดเหตุตามใบอนุญาตขายสุราประเภท 4 และใบอนุญาตขายยาสูบชนิดบุหรี่ซิกาแรตที่ผลิตในประเทศไทย กับใบอนุญาตขายยาสูบชนิดบุหรี่ซิกาแรตที่ผลิตในต่างประเทศ ซึ่งเป็นการขออนุญาตตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2540 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2540 อันเป็นช่วงเวลาที่เกิดเหตุ หากจำเลยเป็นเพียงพนักงานช่วยเก็บเงินและทำงานในร้าน ไม่ได้เป็นเจ้าของร้านที่เกิดเหตุดังที่จำเลยนำสืบ ก็ไม่มีเหตุผลใดที่จำเลยจะต้องเป็นผู้ขออนุญาตขายสุราและบุหรี่ที่ร้านที่เกิดเหตุ อันเป็นผลให้จำเลยมีหน้าที่ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อกำหนด และเงื่อนไขในใบอนุญาตดังกล่าว ที่จำเลยฎีกาอ้างว่าไม่ใช่เจ้าของร้านที่เกิดเหตุจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ที่จำเลยฎีกาว่า พยานโจทก์ก่อหรือใช้ให้จำเลยกระทำความผิด พยานหลักฐานโจทก์ได้มาโดยการล่อลวง ขู่เข็ญ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า การใช้เจ้าพนักงานตำรวจไปล่อซื้อบริการค้าประเวณีเป็นเพียงการกระทำเท่าที่จำเป็นและสมควรในการแสวงหาหลักฐานในการกระทำความผิดของจำเลยตามอำนาจในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (10) ชอบที่เจ้าพนักงานตำรวจจะกระทำได้เพื่อให้ได้โอกาสจับกุมจำเลยพร้อมด้วยพยานหลักฐาน ดังนั้น การใช้เจ้าพนักงานตำรวจไปล่อซื้อบริการการค้าประเวณีจากจำเลยจึงเป็นเพียงวิธีการพิสูจน์ความผิดของจำเลย ไม่เป็นการแสวงหาหลักฐานโดยมิชอบ จึงมิใช่เป็นการก่อหรือใช้ให้จำเลยกระทำความผิด และที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมเพราะเชื่อว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย บันทึกการจับกุมไม่อาจรับฟังได้นั้น เห็นว่า ข้ออ้างดังกล่าวเป็นข้ออ้างของจำเลยลอยๆ ทั้งเป็นการง่ายที่จะกล่าวอ้าง จึงไม่มีเหตุผลและน้ำหนักให้รับฟัง พยานจำเลยไม่อาจหักล้างพยานโจทก์ได้ การที่จำเลยเป็นธุระจัดหาเด็กหญิง ก. ซึ่งเป็นเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี เพื่อให้เด็กหญิง ก. กระทำการค้าประเวณีให้แก่สิบตำรวจตรีณรงค์ แม้สิบตำรวจตรีณรงค์ยังไม่ได้ร่วมประเวณีกับเด็กหญิง ก. ก็ตาม การกระทำของจำเลยก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน