โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4, 6, 8, 15, 27, 28, 31, 61, 70, 75, 76, 78 พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 4, 38, 79 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ให้ของกลางที่ละเมิดลิขสิทธิ์จำนวน 24 แผ่น ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์และสั่งจ่ายเงินค่าปรับฐานละเมิดลิขสิทธิ์ให้แก่เจ้าของลิขสิทธิ์เป็นจำนวนกึ่งหนึ่ง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 (1), 70 วรรคสอง พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 38 (ที่ถูก วรรคหนึ่ง), 79 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้า ให้รอการกำหนดโทษไว้ 1 ปี ฐานประกอบกิจการจำหน่ายภาพยนตร์โดยไม่ได้รับใบอนุญาต ปรับ 200,000 บาท และปรับอีกหนึ่งวันเป็นเงิน 500 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 100,250 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้แผ่นวีซีดีของกลางที่ละเมิดลิขสิทธิ์ จำนวน 24 แผ่น ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า จากรายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยของพนักงานคุมประพฤติปรากฏว่าผู้รับมอบอำนาจช่วงของผู้เสียหายทั้งสองได้ให้ถ้อยคำว่าเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2551 จำเลยได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายทั้งสองแล้วเป็นเงิน 10,000 บาท จึงไม่ติดใจจะดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญากับจำเลยอีกต่อไป จึงมีผลเป็นการยอมความและถอนคำร้องทุกข์ตามกฎหมายแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้าจึงระงับไปนั้น เห็นว่า แม้จะปรากฏข้อความในรายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลย แต่ก็ไม่ปรากฏว่าได้มีการสอบโจทก์และผู้เสียหายทั้งสองเพื่อยืนยันถ้อยคำดังกล่าว รวมทั้งยืนยันว่านางสาวลลิดา ผู้ให้ถ้อยคำเป็นผู้รับมอบอำนาจช่วงและมีอำนาจยอมความในคดีนี้หรือไม่ ในชั้นนี้จึงยังไม่อาจรับฟังเป็นที่ยุติว่าจำเลยได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายทั้งสองแล้วเป็นเงิน 10,000 บาท และผู้เสียหายทั้งสองไม่ติดใจจะดำเนินคดีทางอาญาแก่จำเลยอีกต่อไป อย่างไรก็ตาม เมื่อปรากฏชัดแจ้งในสำนวนความแล้วว่า ในความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ผู้อื่นเพื่อการค้าตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 (1), 70 วรรคสอง นั้น โจทก์บรรยายฟ้องอ้างว่า จำเลยละเมิดลิขสิทธิ์งานภาพยนตร์ของผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 โดยการนำแผ่นวีซีดีและดีวีดีภาพยนตร์ที่ผู้เสียหายทั้งสองเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ออกขายเสนอขายแก่บุคคลทั่วไป อันเป็นการกระทำเพื่อแสวงหากำไรในทางการค้า โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าภาพยนตร์ดังกล่าวเป็นผลงานที่ได้ทำขึ้น มีบริษัทผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เสียหายทั้งสองโดยโจทก์มิได้บรรยายว่า แผ่นวีซีดีและดีวีดีภาพยนตร์ดังกล่าวมีผู้อื่นทำซ้ำหรือดัดแปลงขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายทั้งสอง และจำเลยรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่างานภาพยนตร์ดังกล่าวได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายทั้งสองอันเป็นองค์ประกอบความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ผู้อื่นเพื่อการค้าตามมาตรา 31 (1) ฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องที่บรรยายข้อเท็จจริงขาดองค์ประกอบความผิดฐานนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) แม้จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลก็ไม่อาจลงโทษจำเลยในข้อหาความผิดฐานนี้ได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามมาตรา 31 (1), 70 วรรคสอง จึงไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยมิได้อุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง
พิพากษาแก้เป็นว่า ยกฟ้องโจทก์ในความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 (1), 70 วรรคสอง ส่วนความผิดฐานประกอบกิจการจำหน่ายภาพยนตร์โดยไม่ได้รับใบอนุญาต ปรับ 200,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 100,000 บาท ให้คืนแผ่นวีซีดีภาพยนตร์ จำนวน 24 แผ่น แก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง