โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 91, 288, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4, 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 371 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 วรรคหนึ่ง (ที่ถูก 8 ทวิ วรรคหนึ่ง), 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 371 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น จำคุก 10 ปี ฐานมีอาวุธปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี ลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น จำคุก 10 ปี ฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ปรับ 1,000 บาท คำให้การและคำเบิกความของจำเลยทั้งสองมีประโยชน์ในการพิจารณา ลดโทษให้คนละหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 7 ปี 24 เดือน จำเลยที่ 2 มีกำหนด 7 ปี 6 เดือน และปรับ 750 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดฐานร่วมกันทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 (เดิม) ประกอบมาตรา 83 ลงโทษจำคุกคนละ 1 ปี ลดโทษให้คนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 8 เดือน เมื่อรวมโทษอื่นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 24 เดือน จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 8 เดือน และปรับ 666.66 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงซึ่งโจทก์และจำเลยที่ 2 ไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังยุติได้ว่า ก่อนเกิดเหตุ นายโต๊ด ไม่ทราบชื่อและชื่อสกุลจริง เพื่อนรุ่นพี่ของนายชนะชัย ลวนลามนางสาววิภาวดี คนรักของนายชนะชัย ทำให้จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นเพื่อนในกลุ่มของนายชนะชัยเมื่อได้ทราบเรื่องเกิดความไม่พอใจ วันเกิดเหตุจำเลยที่ 2 โทรศัพท์นัดพบกับนายกฤติพงษ์ เพื่อนในกลุ่มของนายโต๊ด เกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้นที่แฟลตดินแดงที่เกิดเหตุ เวลา 17 นาฬิกาเศษ นายกฤติพงษ์กับพวกรวม 7 คน พากันขับรถจักรยานยนต์มาถึงแฟลตดังกล่าว จอดรถไว้ริมทางเท้าฝั่งตรงข้ามกับแฟลตที่เกิดเหตุซึ่งอยู่ใกล้กับวินรถจักรยานยนต์ซึ่งมีนายไพฑูลย์ ผู้เสียหายที่ 1 นั่งรอผู้โดยสารอยู่ นายกฤติพงษ์ นายเต๋า ไม่ทราบชื่อและชื่อสกุลจริงน้องชายนายโต๊ด กับนายทัตพงศ์ ผู้เสียหายที่ 2 น้องชายนายกฤติพงษ์ พากันเดินไปหาจำเลยที่ 2 ซึ่งยืนถืออาวุธมีดความยาวรวมด้ามประมาณ 1 ฟุต รออยู่บนทางเท้าหน้าแฟลตที่เกิดเหตุ จากนั้นจำเลยที่ 1 ออกมาจากใต้ถุนแฟลตหมายเลข 25 ใช้อาวุธปืนยิง 1 นัด กระสุนปืนถูกบริเวณกึ่งกลางต้นขาด้านหน้าข้างขวาของผู้เสียหายที่ 2 เป็นแผลขนาด 0.8 เซนติเมตร และถูกข้อเท้าขวาของผู้เสียหายที่ 1 เป็นแผลถลอกลึกขนาด 1 เซนติเมตร สำหรับจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน และทางสาธารณะโดยไม่เหตุสมควร คดีเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ให้ลงโทษปรับจำเลยที่ 2 โดยศาลอุทธรณ์เพียงแก้ไขจำนวนค่าปรับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ถูกต้อง ส่วนจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานมีและพาอาวุธปืนโดยไม่มีใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ สำหรับข้อที่จำเลยที่ 1 แก้ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายทั้งสองเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นความผิดนั้น เป็นการขอให้ศาลฎีกาเปลี่ยนแปลงผลของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ซึ่งต้องกระทำโดยยื่นเป็นคำฟ้องฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ มิใช่ขอมาในคำแก้ฎีกา จึงไม่เป็นประเด็นที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยให้
คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ และตามฎีกาของโจทก์ว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการร่วมกันพยายามฆ่าผู้เสียหายทั้งสองตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ ซึ่งเห็นสมควรวินิจฉัยไปพร้อมกัน เห็นว่า ประจักษ์พยานโจทก์ทั้งสามปากเบิกความถึงพฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 ในขณะเกิดเหตุได้อย่างสอดคล้องกันว่า จำเลยที่ 2 ใช้มือข้างที่ถืออาวุธมีดความยาวประมาณ 1 ฟุต กวักเรียกพวกของนายกฤติพงษ์พร้อมร้องเรียกให้เข้ามาหา ถึงแม้จำเลยที่ 2 ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองส่วนตัวกับพวกนายกฤติพงษ์ดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกา แต่การกระทำของจำเลยที่ 2 ดังกล่าว เห็นได้ว่าเป็นการแสดงกิริยาอาการท้าทายกลุ่มของนายกฤติพงษ์อย่างโจ่งแจ้ง โดยข้อนี้ ผู้เสียหายที่ 1 พยานโจทก์ซึ่งถือได้ว่าเป็นพยานคนกลางไม่มีส่วนได้เสียกับฝ่ายใดเบิกความยืนยันว่า ก่อนผู้เสียหายที่ 1 จะได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 1 นัด ผู้เสียหายที่ 1 เห็นทั้งจำเลยที่ 2 และกลุ่มของนายกฤติพงษ์ต่างกวักมือท้าทายเรียกอีกฝ่ายหนึ่งให้เข้ามาหาฝ่ายของตน จึงสนับสนุนให้เชื่อว่าการนัดพบกันระหว่างจำเลยที่ 2 กับนายกฤติพงษ์อันเกี่ยวด้วยเรื่องที่นางสาววิภาวดีถูกลวนลามครั้งนี้ น่าจะมิใช่เป็นเพียงแค่การมาปรับความเข้าใจหรือเพื่อหาข้อยุติดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกาต่อสู้ หากเป็นเรื่องของการท้าทายและตกลงตัดสินปัญหาด้วยการใช้กำลังดังคำเบิกความของนายกฤติพงษ์และนายวิษณุมากกว่า ดังเห็นได้จากฝ่ายนายกฤติพงษ์ที่ชักชวนพรรคพวกมาด้วยกันถึง 7 คน โดยนายกฤติพงษ์มีอาวุธมีดพกสั้น ส่วนผู้เสียหายที่ 2 และนายเต๋ามีอาวุธมีดดาบยาวติดตัว ขณะเดียวกับจำเลยที่ 2 ก็พกอาวุธมีดดาบมาเช่นกัน และในทันทีที่พบกันแต่ละฝ่ายก็แสดงกิริยาอาการท้าทายด้วยการแสดงอาวุธให้อีกฝ่ายหนึ่งเห็นและกวักมือเรียกให้เข้ามาหาฝ่ายตน พฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 ซึ่งมิได้แสดงอาการเกรงกลัวฝ่ายนายกฤติพงษ์ทั้งที่มีพรรคพวกและอาวุธมากกว่า แต่กลับกวักมือร้องเรียกร้องให้เข้ามาอันแสดงถึงการท้าทาย โดยเฉพาะในสถานที่นัดพบซึ่งไม่ปรากฏว่าเป็นสถานที่คุ้นเคยของจำเลยที่ 2 มาก่อนเช่นนี้ ส่อแสดงว่าจำเลยที่ 2 จะต้องตระเตรียมการและวางแผนในการวิวาทต่อสู้ครั้งนี้ไม่ว่าจะในเรื่องผู้ช่วยเหลือหรือแม้แต่อาวุธมาเป็นอย่างดี ทั้งนี้เพื่อมิให้ต้องตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบแก่พวกนายกฤติพงษ์อย่างมิต้องสงสัย เหตุคดีนี้ กล้องวงจรปิดของกรุงเทพมหานครบันทึกภาพเหตุการณ์ขณะผู้เสียหายที่ 2 วิ่งหลบหนีหลังจากถูกยิงว่าเกิดขึ้นเมื่อเวลา 17.10 นาฬิกา ขณะที่กล้องวงจรปิดบริเวณใต้ถุนแฟลตหมายเลข 25 บันทึกภาพจำเลยที่ 1 ไว้ได้ก่อนเกิดเหตุเมื่อเวลา 17.00 นาฬิกา แสดงว่าจำเลยที่ 1 มารออยู่ที่แฟลตหมายเลข 25 ก่อนหน้าที่พวกนายกฤติพงษ์จะพากันขับรถจักรยานยนต์มาถึงสักครู่หนึ่งแล้ว ทำให้ไม่เชื่อตามข้อฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 1 เพิ่งติดตามมาที่แฟลตเกิดเหตุในภายหลังโดยจำเลยที่ 2 ไม่ทราบเรื่อง แต่จากพฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 ซึ่งแสดงออกในขณะเกิดเหตุดังวินิจฉัยมา เมื่อนำมารับฟังประกอบกับพยานหลักฐานจากกล้องวงจรปิดซึ่งพบว่าจำเลยที่ 1 มาอยู่ที่ใต้ถุนแฟลตหมายเลข 25 ก่อนแล้ว รูปคดีตามพยานหลักฐานโจทก์บ่งชี้ชัดว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันตระเตรียมอาวุธและวางแผนรับมือกับพวกนายกฤติพงษ์ จากนั้นมายังที่เกิดเหตุด้วยกัน เมื่อพบนายกฤติพงษ์ซึ่งมีพวกและอาวุธมากกว่า จำเลยที่ 2 จึงทำทีเป็นล่าถอย และให้จำเลยที่ 1 ซึ่งมีอาวุธร้ายแรงกว่าออกหน้ามาจัดการ ฉะนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ฟังว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 นั้น จึงต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่าไม่มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องกับการกระทำของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อไปตามฎีกาของโจทก์ว่า การร่วมกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองดังกล่าวถือเป็นการพยายามฆ่าผู้เสียหายทั้งสองแล้วหรือไม่ ได้ความว่า จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิงเพียงนัดเดียว กระสุนปืนถูกต้นขาข้างขวาของผู้เสียหายที่ 2 ลูกกระสุนปืนฝังใน แพทย์มิได้ผ่าตัดเอาออก และยังปรากฏอีกว่ามีกระสุนปืนไปถูกข้อเท้าขวาของผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งนั่งรอรับผู้โดยสารอยู่ที่วินรถจักรยานยนต์ซึ่งอยู่ห่างจากแฟลตที่เกิดเหตุออกไปด้วย บ่งชี้ว่าอาวุธปืนซึ่งจำเลยที่ 1 ใช้ยิง เป็นอาวุธปืนลูกซองซึ่งภายในกระสุนปืนนัดหนึ่งมีกระสุนลูกปรายหลายนัดบรรจุอยู่ เมื่อยิงแล้วกระสุนปืนจะระเบิดแตกออกขับดันกระสุนลูกปรายให้กระจายไปยังเป้าหมายซึ่งการควบคุมทิศทางจะกระทำได้ยาก ขณะยิงจำเลยที่ 1 อยู่ห่างจากนายกฤติพงษ์ซึ่งวิ่งนำหน้าประมาณ 2 ถึง 3 เมตร ส่วนผู้เสียหายที่ 2 วิ่งตามหลังเยื้องไปทางขวา พฤติการณ์เช่นนี้ หากจำเลยที่ 1 ประสงค์ต่อชีวิตของฝ่ายตรงข้ามซึ่งกำลังวิ่งไล่จำเลยที่ 2 อยู่ จำเลยที่ 1 ย่อมใช้อาวุธปืนยิงนายกฤติพงษ์ซึ่งอยู่ใกล้ที่สุดได้โดยง่าย การที่กระสุนปืนถูกต้นขาผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งอยู่เยื้องไปทางซ้ายของจำเลยที่ 1 ทั้งที่ระหว่างจำเลยที่ 1 กับผู้เสียหายที่ 2 ไม่เคยรู้จักหรือมีสาเหตุส่วนตัวกัน ส่อให้เห็นเจตนาจำเลยที่ 1 ว่าตั้งใจเบนทิศทางปากกระบอกอาวุธปืนให้พ้นจากกลุ่มของนายกฤติพงษ์ที่กำลังวิ่งเข้าหาพร้อมกับกดปากกระบอกอาวุธปืนลงต่ำ มิฉะนั้น ด้วยอำนาจการกระจายตัวของกระสุนลูกปราย การยิงเข้าใส่บุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยหมายปองชีวิตในระยะที่ไม่ห่างกันมากเช่นนี้ กระสุนลูกปรายจะต้องถูกอวัยวะสำคัญของบุคคลนั้นและอาจพลาดไปถูกบุคคลอื่นที่อยู่ใกล้ ๆ กันได้ด้วย กรณีจึงหาใช่เป็นเรื่องซึ่งจำเลยที่ 1 ยิงพลาดดังที่โจทก์ฎีกาโต้แย้งไม่ แต่จากพฤติการณ์ซึ่งผู้เสียหายที่ 2 ถูกกระสุนลูกปรายเพียงนัดเดียวที่ต้นขา และกระสุนลูกปรายอีกลูกหนึ่งถูกข้อเท้าของผู้เสียหายที่ 1 เช่นนี้ กลับทำให้เชื่อว่าจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิงโดยไม่มีเจตนาฆ่าบุคคลใดด้วยการหันปากกระบอกปืนไปในทิศทางที่เห็นว่าปลอดภัยแล้ว แต่เมื่ออาวุธปืนซึ่งจำเลยที่ 1 ใช้ เป็นอาวุธปืนลูกซองซึ่งเมื่อยิงแล้วจะมีกระสุนลูกปรายกระจายตัวออกได้หลายลูก จำเลยที่ 1 ย่อมเล็งเห็นได้ว่ากระสุนลูกปรายเหล่านี้อาจพลาดไปถูกบุคคลใด ๆ ในบริเวณใกล้เคียงได้รับบาดเจ็บได้ การกระทำของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจึงฟังได้เพียงว่าเป็นการกระทำโดยมีเจตนาทำร้ายเท่านั้น เมื่อผู้เสียหายทั้งสองถูกกระสุนลูกปรายจากการยิงปืนของจำเลยที่ 1 ได้รับบาดเจ็บเป็นอันตรายแก่กาย จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานร่วมกันทำร้ายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย หามีความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าไม่ ฎีกาของโจทก์จึงฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
อนึ่ง ในความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7 นั้น โจทก์บรรยายฟ้องระบุว่า อาวุธปืนซึ่งจำเลยที่ 1 มีไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต เป็นอาวุธปืนพกสั้น ไม่ทราบชนิดและขนาด จำนวน 1 กระบอก จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชัดเจนว่าอาวุธปืนซึ่งจำเลยที่ 1 มีไว้ในครอบครองดังกล่าว เป็นอาวุธปืนที่มีหมายเลขทะเบียนของเจ้าพนักงานประทับไว้หรือไม่ กรณีต้องฟังข้อเท็จจริงให้เป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 ว่า อาวุธปืนซึ่งจำเลยที่ 1 มีไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตนั้น เป็นอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมาย อันเป็นความผิดฐานมีอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 72 วรรคสาม ที่ศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานนี้มาตามมาตรา 72 วรรคหนึ่ง และศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จึงไม่ถูกต้อง ปัญหาการปรับบทกฎหมายดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คดีในส่วนของจำเลยที่ 1 สำหรับความผิดฐานดังกล่าวจะยุติเพราะต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แต่เมื่อคดียังไม่ถึงที่สุดเนื่องจากโจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานพยายามฆ่า ศาลฎีกาจึงชอบที่จะหยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นเพื่อแก้ไขโดยปรับบทลงโทษในส่วนของจำเลยที่ 1 ให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 72 วรรคสาม ส่วนโทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์