โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามและบริวารออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 24306 ตำบลขามใหญ่ อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี ห้ามจำเลยทั้งสามและบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินของโจทก์อีกต่อไป และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหาย 100,000 บาท แก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยทั้งสามและบริวารไม่เคยบุกรุกที่ดินของโจทก์ไม่เคยรื้อถอนเสาไม้หรือตัดต้นไม้ของโจทก์ และไม่เคยกระทำละเมิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสาม โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกอุทธรณ์โจทก์ ให้คืนค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์นอกจากนี้ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่าในวันนัดชี้สองสถานหรือสืบพยานโจทก์ คู่ความตกลงกันขอให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ที่ดินตรวจสอบแนวเขตที่ดินตามหลักหมุดโฉนดที่ดินของโจทก์ แล้วให้ถือหลักหมุดเป็นแนวเขตที่ดินโดยไม่ต้องสืบพยานทั้งสองฝ่าย ต่อมาเจ้าหน้าที่ที่ดินรังวัดสอบเขตและทำแผนที่พิพาทระบุว่า ที่ดินพิพาทอยู่นอกเขตหลักหมุดที่ดินของโจทก์ ศาลชั้นต้นจึงงดสืบพยานและพิพากษายกฟ้องตามคำท้า โจทก์อุทธรณ์เพียงว่า คดีนี้เป็นคดีที่มีคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ แต่ศาลชั้นต้นไม่กำหนดจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทเพื่อให้เสียค่าธรรมเนียมศาลหรือโอนคดีไปยังศาลแขวงหากคดีมีทุนทรัพย์ไม่ถึง 300,000 บาท ถือว่าเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกอุทธรณ์โจทก์ คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การที่ศาลชั้นต้นมิได้กำหนดจำนวนทุนทรัพย์ที่ดินพิพาทก่อนที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป เป็นการข้ามขั้นตอน อันถือว่าเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบหรือไม่เห็นว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 24306 ตำบลขามใหญ่ อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2555 จำเลยทั้งสามบุกรุกปลูกสร้างและล้อมรั้วคอนกรีตรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ ขอให้ขับไล่จำเลยทั้งสามและบริวารออกไปพร้อมกับเรียกค่าเสียหาย 100,000 บาท โดยในส่วนของคำขอที่ให้ขับไล่จำเลยทั้งสามและบริวารนั้น ถือว่าเป็นคดีที่มีคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ แต่เมื่อจำเลยทั้งสามให้การเพียงว่าไม่เคยบุกรุกเข้าไปทำละเมิดในที่ดินของโจทก์ หาได้ให้การต่อสู้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทว่าเป็นที่ดินของจำเลยทั้งสามไม่ กรณีจึงไม่ทำให้กลายเป็นคดีมีทุนทรัพย์ตามราคาที่ดินพิพาทที่จำต้องตีราคาทรัพย์ที่พิพาทเพื่อให้โจทก์เสียค่าธรรมเนียมศาลตามฎีกาของโจทก์แต่อย่างใด คดีจึงอยู่ในอำนาจของศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลจังหวัดที่จะพิจารณาพิพากษาคดีได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 18 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 เห็นว่า ศาลชั้นต้นมิได้ดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น แต่ที่พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์นั้น ย่อมไม่ถูกต้อง เพราะถือว่าศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้วินิจฉัยในข้อที่โจทก์อุทธรณ์แล้ว ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 ชอบที่จะพิพากษายืน
อนึ่ง การที่โจทก์ฎีกาเฉพาะขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบแล้วให้ศาลชั้นต้นเริ่มต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่เพียงประการเดียวนั้น ถือว่าเป็นคดีที่มีคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ซึ่งต้องเสียค่าธรรมเนียมศาล(ค่าขึ้นศาล) เรื่องละ 200 บาท แต่โจทก์เสียค่าธรรมเนียมศาล 2,000 บาท เกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ตามตาราง 1 ข้อ 2 (ก) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง จึงให้คืนส่วนที่เกินอัตราดังกล่าวแก่โจทก์
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้คืนค่าธรรมเนียมศาลในชั้นฎีกาส่วนที่เกิน 200 บาท แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกานอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ