ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อสังหาริมทรัพย์, สัญญาซื้อขาย, สัญญาจะซื้อขาย, โมฆะ, นิติกรรมกู้ยืม
1. การที่จะวินิจฉัยว่าทรัพย์ใดเป็นอสังหาริมทรัพย์หรือไม่นั้น ย่อมอยู่ที่ลักษณะสภาพของตัวทรัพย์นั้นเองว่าเป็นทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดิน.ตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 100 หรือไม่ ส่วนทรัพย์นั้นจะเป็นส่วนควบของที่ดินหรือไม่เป็นคนละเรื่องกัน ดังเช่นปลูกตึกลงในที่ดินที่เช่าผู้อื่นเป็นการชั่วคราวตึกนั้นย่อมไม่เป็นส่วนควบของที่ดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 109 แต่ลักษณะสภาพของตึกเป็นทรัพย์ติดอยู่กับที่ดินเป็นการถาวรตึกนั้นจึงเป็นอสังหาริมทรัพย์ การซื้อขายตึกเช่นว่านี้จึงต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
2. แม้ข้อความในสัญญาจะมีเงื่อนไขว่า ผู้ขายมีสิทธิซื้อโรงเรือนคืนได้ภายในกำหนด 5 เดือนก็ดี แต่ในสัญญานั้นเองก็มีข้อความว่า ยอมให้ผู้ซื้อยึดถือครอบครองเป็นเจ้าของตั้งแต่วันทำสัญญา โดยที่ผู้ขายซึ่งยังคงอาศัยอยู่ในโรงเรือนต้องเสียค่าตอบแทน ซึ่งในสัญญาเรียกว่าดอกเบี้ยให้แก่ผู้ซื้อเป็นรายเดือน และผู้ขายก็ได้รับเงินค่าโรงเรือนไปครบถ้วนแล้ว ดังนี้ สัญญาพิพาทจึงมิใช่สัญญาจะซื้อจะขาย หากแต่เป็นสัญญาซื้อขายเด็ดขาดในลักษณะของสัญญาขายฝากอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งถ้ามิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมตกเป็นโมฆะ
3. จำเลยที่ 3 ต้องการเงิน 30,000 บาทเพื่อนำไปชำระหนี้ผู้อื่น จึงขอให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ซึ่งเป็นน้อง ทำสัญญาขายโรงเรือนให้โจทก์ ในสัญญาพิพาทมีเงื่อนไขว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 จะซื้อคืนได้ภายใน 5 เดือนเท่าราคาขายพร้อมด้วยดอกเบี้ย และโจทก์ผู้ซื้อยอมให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ยังคงอาศัยอยู่ในโรงเรือนได้ นอกจากนี้จำเลยที่ 3 ยังได้ทำสัญญาค้ำประกันกับโจทก์อีกฉบับหนึ่งว่า เมื่อครบกำหนด 5 เดือน ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ยอมออกจากโรงเรือน และไม่สามารถใช้เงิน 30,000 บาทกับดอกเบี้ยคืนให้โจทก์แล้ว จำเลยที่ 3 ยอมใช้เงิน30,000 บาทกับดอกเบี้ยแทน ดังนี้ สัญญาพิพาทเข้าแบบเป็นนิติกรรมกู้ยืมเงินอีกอย่างหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 136 โจทก์ย่อมฟ้องเรียกเงินคืนพร้อมดอกเบี้ยได้ แม้ในคำบรรยายฟ้องโจทก์จะไม่ได้กล่าวไว้โดยชัดแจ้งว่า หากสัญญาพิพาทเป็นโมฆะแล้ว โจทก์จำเลยตั้งใจให้สมบูรณ์ในแบบสัญญากู้เงินก็ดี เมื่อตามฟ้องของโจทก์คำให้การจำเลยประกอบกับข้อนำสืบของทั้งสองฝ่ายรับฟังข้อเท็จจริงเป็นอย่างใดแล้ว ก็เป็นเรื่องของศาลที่จะยกบทกฎหมายขึ้นปรับคดีเองได้ ทั้งโจทก์มีคำขอให้จำเลยใช้เงินคืนให้โจทก์ด้วย จึงไม่ใช่นอกฟ้องนอกประเด็นแต่อย่างใด
(ข้อ 3 วินิจฉัยโดยมติที่ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 38/2515)