โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 91, 93, 240, 244, 248, 335 ให้จำเลยคืนเงิน 1,800 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 1 และคืนเงิน 1,600 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 2 ริบของกลางทั้งหมด และเพิ่มโทษจำเลยกึ่งหนึ่งตามกฎหมาย
จำเลยให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 240, 244, 335 (1) วรรคแรก การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานปลอมเงินตราและฐานมีไว้เพื่อนำออกใช้ซึ่งเงินตราโดยรู้ว่าเป็นของปลอม จำเลยเป็นผู้ปลอมขึ้นเองซึ่งเงินตราปลอมที่มีไว้เพื่อนำออกใช้ ให้ลงโทษฐานปลอมเงินตราตามมาตรา 240 แต่กระทงเดียวตามมาตรา 248 จำคุก 10 ปี เพิ่มโทษกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 93 (8) เป็นจำคุก 15 ปี ฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืน 2 กระทง จำคุกกระทงละ 1 ปี เพิ่มโทษกระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 93 (13) เป็นจำคุกกระทงละ 1 ปี 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานปลอมเงินตรา จำคุก 7 ปี 6 เดือน ฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืน 2 กระทง จำคุกกระทงละ 9 เดือน เป็นจำคุก 18 เดือน รวมจำคุก 7 ปี 24 เดือน ริบของกลางทั้งหมด กับให้จำเลยคืนเงิน 1,800 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 1 และคืนเงิน 1,600 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 2
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า ในการแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ต้องหาทราบตามบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 พนักงานสอบสวนไม่ได้สอบถามเรื่องการมีทนายความหรือไม่ การสอบสวนจึงไม่ชอบ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 วรรคแรก บัญญัติถึงอำนาจและหน้าที่ของพนักงานสอบสวนในชั้นแจ้งข้อหาแก่ผู้ต้องหาซึ่งมาอยู่ต่อหน้าพนักงานสอบสวนโดยกำหนดให้พนักงานสอบสวนถามชื่อตัว ชื่อรอง ชื่อสกุล สัญชาติ บิดามารดา อายุ อาชีพ ที่อยู่ ที่เกิดของผู้ต้องหาเป็นประการแรก จากนั้นจึงแจ้งให้ทราบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำที่กล่าวหาว่าผู้ต้องหาได้กระทำผิด แล้วแจ้งข้อหาให้ทราบ และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134/1 วรรคแรกและวรรคสอง บัญญัติให้เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่ต้องถามผู้ต้องหาว่ามีทนายความหรือไม่ โดยต้องถามก่อนเริ่มถามคำให้การ เมื่อบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา กับบันทึกคำให้การจำเลยชั้นสอบสวน ซึ่งล้วนทำขึ้นในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 ปรากฏว่าพนักงานสอบสวนได้ดำเนินการตามขั้นตอนของมาตรา 134 วรรคแรก และได้สอบถามจำเลยเรื่องทนายความตามมาตรา 134/1 วรรคสองแล้ว กับแจ้งด้วยว่าจำเลยมีสิทธิให้ทนายความเข้าฟังการสอบสวนปากคำตนได้ จำเลยให้การว่าไม่มีและไม่ต้องการทนายความ ถือว่าการสอบสวนชอบแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง และที่จำเลยฎีกาว่า คำขอท้ายคำฟ้องอาญาในคำฟ้องฉบับที่จำเลยได้รับมีลักษณะคล้ายการถ่ายสำเนา และไม่มีลายมือชื่อผู้เรียง ผู้เขียนหรือพิมพ์ เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 นั้น เห็นว่า คำขอท้ายคำฟ้องอาญาจากคำฟ้องของโจทก์ในคดีนี้ปรากฏทั้งลายมือชื่อผู้เรียง ผู้เขียนหรือพิมพ์ไว้อย่างชัดแจ้งแล้ว ซึ่งแตกต่างจากที่จำเลยยกขึ้นกล่าวอ้างลอย ๆ ในฎีกา ฟ้องของโจทก์ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ความผิดฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืนและความผิดฐานปลอมเงินตราเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท มิใช่เป็นหลายกรรมนั้น เห็นว่า จำเลยทำปลอมขึ้นซึ่งเงินตราธนบัตรของรัฐบาลไทยชนิดราคา 100 บาท และมีธนบัตรปลอมนั้นไว้เพื่อนำออกใช้โดยรู้ว่าเป็นของปลอม เป็นความผิดสำเร็จตั้งแต่ทำปลอมและมีธนบัตรปลอมไว้เพื่อนำออกใช้แล้ว จากนั้นจำเลยนำธนบัตรรัฐบาลไทยปลอมที่จำเลยทำปลอมขึ้นดังกล่าวไปใช้ลักทรัพย์ ด้วยการใส่ธนบัตรปลอมดังกล่าวเข้าไปในช่องรับเงินของตู้เติมเงินบุญเติมของผู้เสียหายที่ 1 และผู้เสียหายที่ 2 เพื่อโอนเงินจำนวนดังกล่าวไปยังบัญชีธนาคารของผู้มีชื่อที่จำเลยมีหรือเปิดไว้ใช้งานโดยมีเจตนาทุจริตที่จะเอาเงินดังกล่าวไป เป็นการกระทำที่จำเลยมีเจตนาประสงค์ต่อผลต่างกัน สามารถแยกการกระทำแต่ละความผิดได้ จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน มิใช่เป็นการกระทำกรรมเดียว ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า การออกหมายจำคุกจำเลยระหว่างอุทธรณ์ฎีกาที่หักวันต้องขังให้จำเลยเพียง 2 วัน ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยจำเลยฎีกาว่า จำเลยถูกจับวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2564 พนักงานสอบสวนฝากขังจำเลยต่อศาลในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2564 พร้อมกัน 3 คดี คดีนี้คือคดี ฝ.34/2564 กับคดี ฝ.35/2564 และ ฝ.36/2564 จำเลยไม่เคยได้รับการปล่อยชั่วคราว ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาวันที่ 18 สิงหาคม 2564 จำเลยจึงถูกคุมขังก่อนศาลพิพากษาทั้ง 3 คดี รวม 588 วัน คงต้องหักวันคุมขังก่อนศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสิ้น 588 วัน มิใช่ 2 วัน เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 22 วรรคแรก บัญญัติว่า โทษจำคุก เริ่มแต่วันมีคำพิพากษา แต่ถ้าผู้ต้องคำพิพากษาถูกคุมขังก่อนศาลพิพากษา ให้หักจำนวนวันที่ถูกคุมขังออกจากระยะเวลาจำคุกตามคำพิพากษา เว้นแต่คำพิพากษานั้นจะกล่าวไว้เป็นอย่างอื่น คำว่า "ถูกคุมขังก่อนศาลพิพากษา" หมายความว่า จำเลยต้องถูกคุมขังอยู่ในคดีที่ศาลมีคำพิพากษา กรณีจึงไม่อาจนำวันที่จำเลยถูกคุมขังในคดีอื่นมาหักออกจากระยะเวลาจำคุกในคดีนี้ได้ ที่จำเลยอ้างว่าต้องหักวันคุมขังก่อนศาลพิพากษา 588 วัน เป็นกรณีที่จำเลยคิดคำนวณระยะเวลาที่ถูกคุมขัง 196 วัน ก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาคดีนี้ซึ่งซ้อนกับการคุมขังในคดีอื่นอีก 2 คดี ไปนับรวมกันทั้ง 3 จึงไม่ถูกต้อง คดีนี้จำเลยถูกจับกุมวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2564 ศาลชั้นต้นออกหมายขังระหว่างสอบสวนวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2564 ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาและออกหมายจำคุกจำเลยระหว่างอุทธรณ์ฎีกาเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2564 แต่ให้เริ่มนับโทษจำคุกตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2564 จึงเท่ากับหักวันคุมขังระหว่างสอบสวนและระหว่างการพิจารณาจนถึงวันที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยแล้วและเมื่อระบุว่าจำเลยต้องขังมาแล้ว 2 วัน ซึ่งหมายถึงการคุมขังตั้งแต่วันที่จำเลยถูกจับกุมจนถึงวันที่ศาลชั้นต้นออกหมายขังระหว่างสอบสวนนั้น ให้คิดหักให้ด้วย หมายจำคุกระหว่างอุทธรณ์ฎีกาจึงมีการหักวันที่จำเลยถูกคุมขังก่อนศาลพิพากษาออกจากระยะเวลาจำคุกตามคำพิพากษาโดยถูกต้อง จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ฎีกาทุกข้อของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน