โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 มาตรา 4, 5, 7, 17, 29, 89, 92, 108, 112 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 91 ริบนกอีโก้ง 2 ตัว และซากเป็ดแดง 54 ซาก ของกลาง และจ่ายเงินสินบนนำจับตามกฎหมาย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 มาตรา 17, 29, 89 วรรคหนึ่ง, 92 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์ป่าคุ้มครองและซากสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 1 ปี ฐานค้าซากสัตว์ป่าคุ้มครอง จำคุก 2 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน ริบนกอีโก้ง 2 ตัว และซากเป็ดแดง 54 ซาก ของกลาง คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 แผนกคดีสิ่งแวดล้อมพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์ป่าคุ้มครองและซากสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 6 เดือน ฐานค้าซากสัตว์ป่าคุ้มครอง จำคุก 6 เดือน รวมเป็นจำคุก 12 เดือน (ที่ถูก ลดโทษเป็นรายกระทงก่อนรวมโทษ) ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรมต่างกัน เห็นว่า แม้มาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 จะนิยามคำว่า "ค้า" ให้หมายความว่า ซื้อ ขาย แลกเปลี่ยน จำหน่าย จ่าย แจก หรือโอนกรรมสิทธิ์ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในทางการค้า และให้หมายความรวมถึงมีหรือแสดงไว้ซึ่งสัตว์ป่า ซากสัตว์ป่า หรือผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์ป่าเพื่อการค้าด้วย แต่เมื่อข้อเท็จจริงตามรายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยที่จำเลยไม่คัดค้านรับฟังได้ว่า นอกจากจำเลยจะจำหน่ายซากเป็ดแดง 54 ซาก ให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อแล้ว หลังจากนั้น เมื่อเจ้าพนักงานผู้จับกุมไปตรวจค้นที่บ้านของจำเลยยังพบนกอีโก้ง 2 ตัว ที่ยังมีชีวิตอยู่ในกรงขังภายในบริเวณบ้านของจำเลย การที่จำเลยมีนกอีโก้งซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองไว้ในครอบครองของจำเลยโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยมีไว้เพื่อการค้า จึงเป็นการกระทำโดยมีจุดมุ่งหมายหรือเจตนาในการกระทำความผิดต่างกัน ประกอบกับความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 บัญญัติแยกไว้คนละมาตรา โดยความผิดฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์ป่าคุ้มครองและซากสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาตอยู่ในมาตรา 17 และมาตรา 92 ส่วนความผิดฐานค้าซากสัตว์ป่าคุ้มครองอยู่ในมาตรา 29 และมาตรา 89 วรรคหนึ่ง แสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการแยกเป็นคนละความผิดต่างกระทงกัน การกระทำความผิดของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 กรณีไม่ต้องด้วยบทนิยามของคำว่า "ค้า" ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ดังที่จำเลยกล่าวอ้างในฎีกา ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน