โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔ , ๗ , ๘ , ๑๕ , ๖๖ วรรคสอง , ๑๐๒ พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๓ , ๑๐ ริบของกลาง
จำเลยที่ ๑ ให้การปฏิเสธ
จำเลยที่ ๒ ให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๕ วรรคสอง , ๖๖ วรรคสอง , ๑๐๒ ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ และจำเลยที่ ๒ มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๕ วรรคสอง , ๑๖ วรรคสอง , ๑๐๒ พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๑๐ ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ ลงโทษจำเลยทั้งสองฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกจำเลยทั้งสองตลอดชีวิต เมื่อศาลลงโทษจำเลยที่ ๒ จำคุกตลอดชีวิตแล้วจึงไม่อาจวางโทษสามเท่าของโทษที่กำหนดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๑๐ ได้ จำเลยที่ ๑ ให้การรับสารภาพชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน ส่วนจำเลยที่ ๒ ให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณาเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้คนละหนึ่งในสาม คงจำคุกคนละ ๓๗ ปี ๖ เดือน ริบของกลาง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ ๒ มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๕ , ๖๖ วรรคสอง , ๑๐๒ พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๑๐ ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ ส่วนโทษจำคุกเมื่อคิดลดโทษแล้ว คงให้จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ ๓๓ ปี ๔ เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า จำเลยที่ ๑ มีอาชีพทำนา จำเลยที่ ๒ มีอาชีพรับราชการเป็นครู ในวันเวลาเกิดเหตุ เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยทั้งสองได้ขณะที่จำเลยที่ ๒ ขับรถยนต์กระบะคันของกลางของจำเลยที่ ๒ ไปถึงบริเวณหน้าสถานีตำรวจภูธรตำบลคำย่อ โดยพันตำรวจโทวิเศษ ชัยสงคราม กับพวกซึ่งตั้งด่านตรวจได้เรียกให้หยุดรถและจับกุมจำเลยทั้งสองกล่าวหาว่าร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย แล้วนำจำเลยทั้งสองไปดำเนินคดีพร้อมกับยึดเมทแอมเฟตามีนและรถยนต์กระบะเป็นของกลาง? พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักและเหตุผลมั่นคงฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยที่ ๑ ร่วมกับจำเลยที่ ๒ มีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายจริง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ พิพากษาว่าจำเลยที่ ๑ มีความผิดมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ พิพากษาให้วางโทษจำคุกจำเลยที่ ๒ สามเท่าตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๑๐ นั้น ยังไม่ถูกต้องเนื่องจากว่าแม้การกระทำความผิดของจำเลยที่ ๒ ต้องตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๕ วรรคสอง , ๖๖ วรรคสอง พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๑๐ เป็นเรื่องที่จะต้องระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้ในมาตรา ๖๖ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ แต่โทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๖๖ วรรคสอง ระวางโทษไว้ให้จำคุกตลอดชีวิต หรือประหารชีวิต เมื่อวางโทษจำคุกตลอดชีวิตแล้ว จึงไม่อาจที่จะระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๑๐ ได้ ทั้งนำมาตรา ๑๐ แห่งบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวมาปรับด้วยไม่ได้ จำเลยที่ ๒ คงมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๕ วรรคสอง , ๖๖ วรรคสอง เท่านั้น จึงเห็นควรแก้ไขให้ถูกต้อง?
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ ๒ มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๕ วรรคสอง , ๖๖ วรรคสอง , ๑๐๒ ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ เมื่อลดโทษให้แก่จำเลยทั้งสองคนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ ประกอบมาตรา ๕๓ แล้วคงจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ ๒๕ ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๔.