ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์เป็นเจ้าของสินค้าด้ายกลุ่มเรียกว่าด้ายถักโครเชท์ บรรจุกล่องกระดาษมีเครื่องหมายที่บนฝากล่อง ข้างกล่อง และที่กลุ่มด้ายเป็นรูปนกยูงรำแพน ที่ฝาและข้างกล่องมีรูปสามเหลี่ยมหยัก ๆ กับดอกไม้อยู่ริมขอบของเครื่องหมาย ตอนกลางมีอักษรอังกฤษว่า " Manlove's Cracket Balls" และคำว่า "Trade Mark" ล้อมรูปนกยูง โจทก์ได้ส่งสินค้านี้มาจำหน่ายในประเทศไทยหลายสิบปีแล้ว โจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าสำหรับเครื่องหมายบนฝากล่องไว้แล้ว แต่ พ.ศ. ๒๔๗๔ และจดทะเบียนเครื่องหมายที่กลุ่มด้ายไว้แล้วแต่ พ.ศ. ๒๔๙๔ ส่วนเครื่องหมายสำหรับใช้ที่ข้างกล่องมิได้จดทะเบียนไว้ จำเลยเป็นเจ้าของสินค้าด้ายทำนองเดียวกับโจทก์ ใช้เครื่องหมายการค้าหลายอย่าง คือ รูปหัวสิงห์ นกกระสา และหอย เมื่อครั้งจำเลยใช้เครื่องหมายรูปนกกระสา ผู้แทนโจทก์ได้ขอร้องให้จำเลยระงับใช้ขอบริมซึ่งเป็นลวดลายดอกไม้เหมือนกับที่ใช้กับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ และได้ทำสัญญาประนีประนอมกันเองเมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๔๙๘ โดยโจทก์จ่ายเงินให้จำเลย ๒,๕๐๐ บาท สำหรับค่าใช้จ่ายที่ลงทุนทำกล่องไป จำเลยยอมระงับใช้ลวดลายขอบริมดังกล่าวเสีย เครื่องหมายการค้าตราหอยของจำเลยเป็นเครื่องหมายชุด คือ เป็นรูปหอยไม่มีลวดลายขอบริมสำหรับใช้ปิดที่กลุ่มด้ายซึ่งจดทะเบียนไว้แล้ว อีกแบบหนึ่งเป็นเครื่องหมายสำหรับใช้ที่ข้างกล่อง และแบบที่สามเป็นเครื่องหมายสำหรับฝากล่อง เครื่องหมาย ๒ แบบหลังนี้จำเลยยื่นขอจดทะเบียนในวันที่ ๒๑ เดือนที่ทำสัญญาประนีประนอมกับผู้แทนโจทก์นั่นเอง จำเลยขอจดโดยเอาลวดลายดอกไม้ริมขอบที่ตกลงเลิกใช้กับเครื่องหมายรูปนกกระสามาใช้กับรูปหอยอีก แต่เครื่องหมายใช้กับฝากล่องที่จำเลยขอจดนี้ กองทะเบียนการค้าว่าลายขอบเหมือนกับลายขอบเครื่องหมายที่ฝากล่องของโจทก์ที่จดไว้แล้ว จำเลยยอมแก้ลายขอบเสียใหม่ แต่จำเลยไม่เปลี่ยนลายขอบข้างกล่องด้วย (เพราะโจทก์มิได้จดทะเบียนเครื่องหมายที่ข้างกล่องไว้) โจทก์เพิ่งขอจดทะเบียนเครื่องหมายสำหรับข้างกล่อง เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐ ในระหว่างที่จำเลยไปขอจดไว้แต่ยังไม่ได้รับจด นายทะเบียนการค้าเห็นว่าเครื่องหมายที่จำเลยขอจดสำหรับข้างกล่องนี้คล้ายและเหมือนกัน จึงแจ้งให้โจทก์จำเลยตกลงกันเอง หรือนำคดีสู่ศาลตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๔๗๔ มาตรา ๑๗ โจทก์จึงฟ้องขอให้พิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิที่จะจดทะเบียนเครื่องหมาย (ตรานกยูงรำแพนสำหรับข้างกล่อง) ขอให้สั่งให้จำเลยถอนคำขอจดทะเบียนดังกล่าวเสีย
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์มีสิทธิขอจดทะเบียนตามคำขอที่ ๒๘๖๗๘ ดีกว่าจำเลย ให้จำเลยถอนคำขอจดทะเบียนเลขที่ ๒๔๕๘๖
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.๒๔๗๔ มาตรา ๒๙ โดยอ้างฎีกาที่ ๑๗๖๗/๒๙๙๙ สนับสนุนนั้น คำพิพากษาฎีกาดังกล่าวอธิบายไว้ชัดว่า กรณีที่นายทะเบียนสั่งการตามมาตรา ๑๗ จะนำอายุความตามมาตรา ๒๙ วรรคต้นมาใช้บังคับไม่ได้ เพราะเป็นคนละกรณีกัน ฉะนั้นคดีโจทก์หาขาดอายุความไม่
ปัญหาต่อไปที่ว่าเครื่องหมายการค้าที่ต่างขอจดทะเบียนไว้นั้น จะเหมือนหรือเกือบเหมือนกันหรือไม่ ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่ได้พิเคราะห์เครื่องหมายข้างกล่องที่พิพาทกันแล้วเห็นว่า แม้จำเลยจะใช้เครื่องหมายเป็นรูปหอยไม่ใช่รูปนกยูงของโจทก์ แต่ขนาดของรูปหอยเท่ากันกับรูปนกยูงของโจทก์และสีอย่างเดียวกัน ลายขอบก็ใช้อย่างเดียวกัน ซึ่งเฉพาะลายขอบนี้จำเลยได้เคยตกลงไว้กับโจทก์แล้วว่าไม่ใช้ลายขอบชนิดนี้ เมื่อมองดูแล้วจะเห็นได้ว่าเครื่องหมายของจำเลยมีลักษณะเกือบเหมือนกับของโจทก์ตามมาตรา ๑๗
เครื่องหมายการค้าของโจทก์นี้โจทก์ได้ใช้มานานแล้วก่อนจำเลยได้จดทะเบียนไว้แล้วสำหรับใช้ที่ฝากล่องและกลุ่มด้ายที่ขอจดรายพิพาทนี้เป็นเครื่องหมายที่ข้างกล่องซึ่งยังมิได้ขอจดไว้เดิมเท่านั้น ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าต้องถึงขนาดลวงสาธารณชนตามมาตรา ๑๖ นั้น เห็นว่าหลักเกณฑ์ดังกล่าวนั้นใช้เฉพาะในกรณีที่มีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคล้ายกันได้มาขอจดบ้าง ถ้าเครื่องหมายรายหลังนี้คล้ายกันจนถึงขนาดนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนแล้ว กฎหมายก็ห้ามมิให้รับจดทะเบียนให้ จึงเป็นคนละเรื่องกับมาตรา ๑๗ ดังกล่าว โจทก์จึงมีสิทธิที่จะขอจดทะเบียนเครื่องหมายรายพิพาทดีกว่าจำเลย
พิพากษายืน