ผู้ร้องขอทั้งสองยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้และตั้งลูกหนี้เป็นผู้ทำแผน หากศาลยังไม่มีคำสั่งตั้งผู้ทำแผนขอให้มีคำสั่งตั้งผู้บริหารของลูกหนี้เป็นผู้บริหารชั่วคราว
ศาลล้มละลายกลางตรวจคำร้องขอแล้ว เห็นว่า ก่อนที่ผู้ร้องขอทั้งสองจะยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการคดีนี้ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2559 ลูกหนี้ได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการมาแล้วในคดีหมายเลขแดงที่ ฟ.31/2560 ในระหว่างการไต่สวน ลูกหนี้ได้ขอถอนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ โดยวันที่ 23 สิงหาคม 2560 ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ถอนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการและจำหน่ายคดีจากสารบบความ ต่อมาวันที่ 24 มกราคม 2561 ลูกหนี้ได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการอีกเป็นคดีหมายเลขแดงที่ ฟฟ. 2/2562 หลังจากนั้น ระหว่างการไต่สวนลูกหนี้ได้ขอถอนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการอีกครั้ง โดยวันที่ 29 มกราคม 2562 ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ถอนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการและให้จำหน่ายคดีจากสารบบความในคดีดังกล่าวทั้งสองคดี ลูกหนี้ถอนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการระหว่างไต่สวน โดยไม่ประสงค์ให้ศาลพิจารณาเกี่ยวกับกิจการของลูกหนี้ว่า มีเหตุอันสมควรและช่องทางการฟื้นฟูกิจการตามกฎหมายหรือไม่ หลังจากนั้นไม่นาน เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2562 ลูกหนี้ได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการเป็นครั้งที่สาม โดยศาลมีคำสั่งถึงที่สุดให้ยกคำร้องขอ การที่ผู้ร้องขอทั้งสองยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้คดีนี้เป็นครั้งที่สี่ ผู้ร้องขอทั้งสองต้องแสดงให้เห็นโดยชัดแจ้งว่า กิจการของลูกหนี้มีช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการ และวิธีการที่จะทำให้ลูกหนี้สามารถกลับสู่ภาวะทางการเงินที่เป็นปกติ แตกต่างในสาระสำคัญจากการร้องขอฟื้นฟูกิจการที่ผ่านมา และไม่ได้แสวงหาประโยชน์จากสภาวะพักการชำระหนี้ตามกฎหมาย ประวิงไม่ให้เจ้าหนี้ใช้สิทธิบังคับชำระหนี้โดยไม่มีเหตุอันสมควร แต่เมื่อพิจารณาคำร้องขอฟื้นฟูกิจการและเอกสารท้ายคำร้องโดยตลอดแล้ว ผู้ร้องขอทั้งสองเพียงแต่กล่าวอ้างถึงหลักการในภาพรวม ทำนองเดียวกับคดีหมายเลขแดงที่ ฟ.31/2560 ฟฟ.2/2562 และ ฟฟ.8/2562 โดยไม่ปรากฏเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมหรือแตกต่างจากเดิมในสาระสำคัญ โดยเฉพาะที่แสดงอย่างชัดแจ้งว่าลูกหนี้สามารถแก้ไขปัญหาทางการเงินที่มีกับเจ้าหนี้สถาบันการเงินรายใหญ่ ซึ่งคัดค้านการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้มาโดยตลอดในคดีก่อนหน้านี้ คำร้องขอฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้จึงยังไม่ได้แสดงโดยชัดแจ้งถึงวิธีการและรายละเอียดที่จะทำให้กิจการของลูกหนี้ที่ประสบปัญหาทางการเงินกลับสู่สภาพตามปกติ เพื่อให้การฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้บรรลุวัตถุประสงค์ตามกฎหมาย และทำให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้มากกว่าในกรณีที่ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย กรณีจึงเป็นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการที่ไม่ได้แสดงรายละเอียดโดยชัดแจ้งถึงเหตุสมควรและช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการตามเงื่อนไขในมาตรา 90/6 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 จึงให้ยกคำร้องขอ ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ คืนเงินประกันค่าใช้จ่ายแก่ผู้ร้องขอทั้งสอง
ผู้ร้องขอทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้ร้องขอทั้งสองฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องขอทั้งสองข้อแรกว่า คำร้องขอฟื้นฟูกิจการของผู้ร้องขอทั้งสองมีองค์ประกอบครบตามมาตรา 90/3 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ชอบที่ศาลล้มละลายกลางจะมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการหรือไม่ เห็นว่า ในคำร้องขอเพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการจะต้องแสดงโดยชัดแจ้งถึง "ช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการ" ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/6 (3) ประกอบมาตรา 90/3 ในคำร้องขอคดีนี้ระบุข้อมูลดังกล่าวไว้ในข้อ 6 ได้แก่ 6.1 เจรจาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ กับเจ้าหนี้สถาบันการเงิน 6.2 การปรับปรุงระบบและโครงสร้างองค์กร 6.3 แผนการขยายโครงการบ้านจัดสรรของลูกหนี้ 6.4 ปัจจัยที่เอื้ออำนวยต่อการดำเนินธุรกิจของลูกหนี้และ 6.5 ส่งเสริมการประชาสัมพันธ์การขายและจุดเด่นของโครงการ เมื่อพิจารณาช่องทางต่าง ๆ ที่ผู้ร้องขอระบุแล้วเห็นว่า ช่องทางที่ 6.1 ผู้ร้องขอทั้งสองไม่ได้แนบหลักฐานรายละเอียดและหรือความคืบหน้าเกี่ยวกับการเจรจาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้สถาบันการเงินทั้งที่เป็นการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการครั้งที่สี่ของลูกหนี้ และเป็นเวลาประมาณ 3 ปี นับจากการขอฟื้นฟูกิจการครั้งแรก นอกจากนี้ ในส่วนช่องทางตามที่ระบุในข้อ 6.1, 6.2 และ 6.3 การที่ลูกหนี้จะดำเนินการได้ ลูกหนี้จะต้องยังประกอบธุรกิจอยู่ แต่ปรากฏตามงบกำไรขาดทุนของลูกหนี้สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2560 ตามสำเนาแบบนำส่งงบการเงิน ว่าลูกหนี้ไม่มีรายได้ในปี 2559 และ 2560 และปรากฏข้อมูลในสำเนาหนังสือรับรองบริษัทลูกหนี้ ว่า "นิติบุคคลนี้ขาดส่งงบการเงินปี 2561" จึงมีเหตุให้ควรสงสัยว่าลูกหนี้ยังประกอบธุรกิจอยู่หรือไม่ เมื่อลูกหนี้ไม่มีรายได้เข้าบริษัทเป็นเวลาถึงสองปีและไม่มีข้อมูลสถานะทางการเงินที่เป็นปัจจุบันในขณะที่ผู้ร้องขอทั้งสองยื่นคำร้องขอ จึงเป็นการยากที่จะวิเคราะห์ว่าช่องทางต่าง ๆ ที่ระบุในคำร้องขอจะเป็นแนวทางหรือวิธีการที่จะส่งเสริมหรือสนับสนุนการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ได้หรือไม่ อย่างไร ส่วนช่องทางข้อ 6.4 และ 6.5 ที่ผู้ร้องขอทั้งสองอ้างไม่ใช่ช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการ ประกอบกับบริษัทลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ 3 ครั้งก่อนหน้านี้ ตั้งแต่ปี 2559 แต่ก็มีเหตุให้ศาลไม่อาจมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ หากลูกหนี้มีช่องทางให้ฟื้นฟูกิจการได้จริง ลูกหนี้ก็น่าจะสามารถแก้ไขปัญหาทางการเงินดังกล่าวไปได้แล้วตั้งแต่ก่อนหน้านี้ ไม่จำต้องมายื่นคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการอีกเป็นครั้งที่สี่ จากข้อเท็จจริงในสำนวนแสดงให้เห็นว่า กิจการของลูกหนี้ไม่มีช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการ คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษในข้อนี้ชอบแล้ว ฎีกาของผู้ร้องขอทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องขอทั้งสองข้อสุดท้ายว่า ที่ศาลล้มละลายกลางตรวจคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของผู้ร้องขอทั้งสองแล้วมีคำสั่งยกคำร้องขอชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ นั้น เห็นว่า ศาลล้มละลายกลางมีอำนาจยกคำร้องขอของผู้ร้องขอทั้งสองตั้งแต่ในชั้นตรวจคำร้องขอได้ โดยหาจำต้องมีคำสั่งรับคำร้องขอของผู้ร้องทั้งสองไว้ก่อนไม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 ประกอบมาตรา 172 วรรคสาม ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 14 คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษในข้อนี้ชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของผู้ร้องขอทั้งสองฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ