โจทก์ฟ้องมีใจความว่า จำเลยเช่าห้องแถวของโจทก์สิ้นอายุสัญญาแล้ว จำเลยอยู่ต่อมาโดยไม่ได้ทำสัญญากันใหม่ จำเลยผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าติดต่อกันเรื่อยมา โจทก์บอกเลิกสัญญาแล้วจำเลยเพิกเฉย ขอให้ขับไล่ ให้ชำระค่าเช่าที่ค้างและใช้ค่าเสียหาย
จำเลยต่อสู้ว่า เช่าเป็นที่อยู่อาศัย ไม่ได้ผิดนัดค้างค่าเช่า โจทก์ไม่ไปเก็บเอง จำเลยส่งค่าเช่ามาทางธนาณัติ และต่อสู้อื่น ๆ
ศาลแพ่งให้ขับไล่จำเลยและให้ใช้ค่าเสียหายส่วนค่าเช่าที่ค้างโจทก์เรียกไม่ได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๓๘
โจทก์จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ไม่พอจะถือว่าจำเลยผิดนัดไม่ชำระค่าเช่า และแม้ไม่มีหนังสือสัญญาเช่าต่อกัน เมื่อโจทก์ยังไม่ได้รับค่าเช่าก็มีสิทธิเรียกจากจำเลยได้ตามกฎหมายว่าด้วยการเช่าทรัพย์ พิพากษากลับให้ยกคำขอให้ขับไล่และเรื่องค่าเสียหาย คงให้จำเลยชำระค่าเช่าที่ค้าง
โจทก์จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า เดิมจำเลยเช่าห้องโจทก์เป็นที่อยู่อาศัยมีสัญญาเช่าต่อกัน ชั้นแรกจำเลยนำค่าเช่าไปชำระแก่โจทก์ทุกเดือน ครั้นครบกำหนดสัญญาแล้ว จำเลยคงเช่าต่อมา แต่ไม่ได้ทำหนังสือสัญญาเช่ากันใหม่ สำหรับเงินค่าเช่านับแต่นั้นมาจำเลยได้ส่งไปยังโจทก์ทางธนาณัติแทนการนำไปชำระแก่โจทก์ เพราะขณะนั้นโจทก์ไม่ยอมรับค่าเช่าจากผู้เช่า จำเลยส่งค่าเช่าไปทางธนาณัติเช่นนี้ โจทก์รับทราบแต่ไม่ยอมไปรับยังที่ทำการไปรษณีย์ พฤติการณ์เป็นดังนี้จะถือว่าจำเลยผู้เช่าผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าสองคราวติด ๆ กันได้หรือไม่
ศาลฎีกาเห็นว่า พระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าในภาวะคับขัน พ.ศ.๒๔๘๘ มาตรา ๑๖ (๑) ให้อำนาจผู้ให้เช่าฟ้องขับไล่ผู้เช่าได้ เมื่อผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าสองคราวติด ๆ กันนั้น แสดงว่า ผู้เช่ามีเจตนาผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าเป็นประมาณ ทำให้ผู้ให้เช่าขาดประโยชน์อันควรมีควรได้ แต่ข้อเท็จจริงในคดียังไม่พอฟังว่าจำเลยเจตนาผิดนัดการชำระค่าเช่า
พิพากษายืน