โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคสอง, 340, 340 ตรี, 83 กับให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ นาฬิกาข้อมือ ปากกาและโทรศัพท์เคลื่อนที่ เป็นเงิน 303,460 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางอังคณา ภริยาของนายสมชายและบุตรของนายสมชายได้แก่ นางสาวสุดปรารถนา นางสาวประทับจิต นางสาวกอปร์กุศลและนางสาวครองธรรม โดยนางอังคณายื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ ศาลชั้นต้นอนุญาตโดยเรียกนางอังคณาเป็นโจทก์ร่วมที่ 1 นางสาวสุดปรารถนา เป็นโจทก์ร่วมที่ 2 นางสาวประทับจิต เป็นโจทก์ร่วมที่ 3 นางสาวกอปร์กุศล เป็นโจทก์ร่วมที่ 4 และนางสาวครองธรรมโดยนางอังคณา เป็นโจทก์ร่วมที่ 5
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคแรก และมาตรา 391 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคแรก ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 3 ปี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก กับให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ถึงจำเลยที่ 5
โจทก์ โจทก์ร่วมทั้งห้าและจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ด้วย กับให้ยกคำขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมของโจทก์ร่วมทั้งห้า นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
โจทก์ร่วมทั้งห้าฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังได้ในเบื้องต้นว่า นายสมชาย ประกอบอาชีพทนายความและเป็นประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม โดยมีสำนักงานทนายความที่กรุงเทพมหานคร ก่อนเกิดเหตุ นายสมชายเคยช่วยเหลือผู้ต้องหาและเป็นทนายความให้แก่จำเลยในคดีที่เกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐหลายคดี ต่อมาวันเกิดเหตุ นายสมชายเพียงลำพังได้ขับรถเก๋งส่วนตัว ยี่ห้อฮอนด้า รุ่นซีวิค สีเขียว หมายเลขทะเบียน ภง 6786 กรุงเทพมหานคร ออกจากโรงแรม เพื่อมุ่งหน้าไปพักค้างคืนที่บ้านน้องชายของเพื่อนในหมู่บ้านสวนสนซึ่งอยู่ห่างไปประมาณ 3 กิโลเมตร ระหว่างทางขณะที่นายสมชายขับรถไปจอดริมถนนบริเวณหน้าร้านอาหาร มีชายคนร้ายหลายคนร่วมกันใช้กำลังบังคับพานายสมชายขึ้นรถยนต์ของคนร้ายโดยนายสมชายหายตัวไปจนกระทั่งบัดนี้ ต่อมามีผู้พบรถยนต์ของนายสมชายถูกนำไปจอดทิ้งไว้ที่ถนนกำแพงเพชร 2 หลังสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (หมอชิต 2) โดยมีการกล่าวหาจำเลยทั้งห้าว่า จำเลยทั้งห้าร่วมกันเป็นคนร้ายก่อเหตุร้ายแก่นายสมชาย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ร่วมทั้งห้าว่า โจทก์ร่วมที่ 1 ซึ่งเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายสมชายและโจทก์ร่วมที่ 2 ถึงที่ 5 ซึ่งเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายสมชายมีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าร่วมโจทก์หรือไม่ เห็นว่า นายสมชายเป็นผู้เสียหายที่ได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของคนร้ายโดยตรง นายสมชายจึงมีอำนาจฟ้องคดีอาญาหรือยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 28 และมาตรา 30 และหากนายสมชายไม่สามารถดำเนินการดังกล่าวได้ ผู้สืบสันดานและภริยาของนายสมชายย่อมมีอำนาจจัดการแทนนายสมชายได้ แต่กฎหมายได้กำหนดหลักเกณฑ์ประการสำคัญไว้ในมาตรา 5 (2) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาว่า ผู้สืบสันดานและภริยาจะจัดการแทนผู้เสียหายได้เฉพาะแต่ในความผิดอาญาซึ่งผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้ ในข้อนี้เมื่อพิจารณาคำบรรยายฟ้องของโจทก์แล้วได้ใจความว่า โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยทั้งห้ากับพวกร่วมกันปล้นทรัพย์ของนายสมชายไปและร่วมกันใช้กำลังประทุษร้าย ผลักและฉุดกระชากนายสมชายเข้าไปในรถยนต์ของจำเลยทั้งห้ากับพวก อันเป็นการข่มขืนใจนายสมชายให้ต้องจำยอมเข้าไปในรถยนต์ของจำเลยทั้งห้ากับพวกด้วยการทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกายหรือเสรีภาพและขณะนี้ไม่ทราบว่านายสมชายยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ ซึ่งแม้คำบรรยายฟ้องจะแสดงว่า จำเลยทั้งห้ากับพวกร่วมกันใช้กำลังทำร้ายนายสมชาย แต่เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องยืนยันว่านายสมชายเสียชีวิตแล้ว กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่า นายสมชายถูกทำร้ายถึงตายตามความหมายของกฎหมาย อีกทั้งการที่จำเลยทั้งห้ากับพวกร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายผลักและฉุดกระชากนายสมชายเข้าไปในรถยนต์ของจำเลยทั้งห้ากับพวกก็ไม่ได้ความตามคำฟ้องของโจทก์ว่าเป็นเหตุให้นายสมชายได้รับบาดเจ็บจนไม่สามารถจัดการเองได้และแม้ต่อมาในปี 2552 ศาลแพ่งกรุงเทพใต้มีคำสั่งแสดงว่า นายสมชายเป็นคนสาบสูญซึ่งถือว่าถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 62 ก็ตาม แต่ก็เป็นการตายโดยผลของกฎหมาย มิใช่เป็นกรณีถูกทำร้ายถึงตายตามความเป็นจริง เมื่อในขณะที่ภริยาและผู้สืบสันดานของนายสมชายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในปี 2547 และปี 2548 ตามลำดับ ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่านายสมชายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้ ประกอบกับโจทก์แถลงยอมรับต่อศาลชั้นต้นตามรายงานกระบวนพิจารณาว่า นางอังคณา ภริยาของนายสมชายไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ได้ ดังนี้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ของนางอังคณาโจทก์ร่วมที่ 1 และบุตรของนายสมชาย โจทก์ร่วมที่ 2 ถึงที่ 5 จึงเป็นไปโดยถูกต้องและชอบด้วยหลักเกณฑ์ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5 (2) แล้ว ฎีกาของโจทก์ร่วมทั้งห้าในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นและเมื่อโจทก์ร่วมทั้งห้าไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์มาตั้งแต่แรก โจทก์ร่วมทั้งห้าย่อมไม่มีสิทธิที่จะอุทธรณ์และฎีกา ศาลฎีกาจึงไม่จำต้องพิจารณาฎีกาของโจทก์ร่วมทั้งห้าในประเด็นข้ออื่นอีก
พิพากษายืน