โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 264, 266, 268, 341 ริบโฉนดที่ดินปลอมของกลาง กับให้จำเลยคืนเงิน 400,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 266 (1), 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 266 (1), 341 สำหรับความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการและฐานใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอม จำเลยเป็นผู้ปลอมเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการ และใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอม จึงให้ลงโทษฐานใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอมตามมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 266 (1) แต่กระทงเดียวตามมาตรา 268 วรรคสอง ความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอมกับความผิดฐานฉ้อโกง เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอม อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 4 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี ริบโฉนดที่ดินปลอมของกลาง กับให้จำเลยคืนเงิน 400,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุก 2 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 1 ปี ให้จำเลยชำระเงิน 580,000 บาท แก่ผู้เสียหายตามบันทึกข้อตกลงฉบับวันที่ 3 กรกฎาคม 2556 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษจำคุกนั้น เห็นว่า เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งมีเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวกับดุลพินิจในการรอการลงโทษ ซึ่งไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยของศาลล่าง ศาลฎีกาไม่รับคดีไว้พิจารณาพิพากษาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 23 วรรคหนึ่ง
อนึ่ง คดีนี้ผู้เสียหายมิได้ยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 แต่เป็นกรณีที่พนักงานอัยการขอให้จำเลยคืนเงินจำนวน 400,000 บาท ให้แก่ผู้เสียหาย อันเป็นการเรียกร้องทรัพย์สินหรือราคาที่ผู้เสียหายสูญเสียไปเนื่องจากการกระทำความผิดคืน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวให้อำนาจพนักงานอัยการสามารถเรียกทรัพย์สินหรือใช้ราคาแทนผู้เสียหายเพียงเท่าจำนวนที่ผู้เสียหายเสียไปเท่านั้น ค่าเสียหายอย่างอื่นหรือดอกเบี้ยไม่อาจเรียกคืนแทนผู้เสียหายได้ ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาให้จำเลยคืนเงินจำนวน 580,000 บาท แก่ผู้เสียหายซึ่งเกินกว่าจำนวนเงินที่ผู้เสียหายเสียไปนั้น จึงขัดต่อมาตรา 43 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยคืนเงิน 400,000 บาท แก่ผู้เสียหายนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3