คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญากู้เงินกับโจทก์แล้วผิดนัดไม่ชำระหนี้ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 4,345,781.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยให้การว่าจำเลยมิได้เป็นหนี้ตามจำนวนที่โจทก์ฟ้องเพราะจำเลยได้ผ่อนชำระต้นเงินและดอกเบี้ยมาตลอด โจทก์คิดดอกเบี้ยไม่ถูกต้อง จำเลยไม่เคยได้รับหนังสือบอกกล่าวให้ชำระหนี้ ขอให้ยกฟ้อง ในวันสืบพยานโจทก์ทนายจำเลยมาศาลฝ่ายเดียว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณา ทนายจำเลยแถลงว่า การดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปแล้วแต่ศาลจะมีคำสั่ง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
โจทก์ยื่นคำร้องว่า ในวันนัดสืบพยานโจทก์ ทนายโจทก์มีภารกิจจำเป็นเร่งด่วนและสำคัญไม่อาจไปศาลได้จึงให้เสมียนทนายนำคำร้องไปขอเลื่อนคดี แต่เสมียนทนายได้พายายซึ่งประสบอุบัติเหตุไปส่งโรงพยาบาลเป็นเหตุให้ไปศาลไม่ทันและกลับไปบอกความเท็จแก่เจ้าหน้าที่สำนักงานทนายโจทก์ว่าได้เลื่อนคดีเรียบร้อยแล้ว เมื่อทนายโจทก์ไปศาลจึงทราบว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีแล้ว การขาดนัดพิจารณาของโจทก์จึงมิได้เกิดจากความจงใจ หากแต่มีเหตุอันเป็นพฤติการณ์พิเศษนอกเหนือที่โจทก์ไม่อาจบังคับได้ดังกล่าว การที่ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีโดยไม่ทราบเหตุที่โจทก์ไม่มาศาลจึงเป็นการสั่งโดยผิดหลง ขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวและไต่สวนถึงเหตุที่โจทก์ไม่มาศาล
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏต่อศาลชั้นต้นว่าฝ่ายโจทก์ไม่มาศาลในวันนัดสืบพยานโจทก์โดยมิได้ร้องขอเลื่อนคดีหรือแจ้งเหตุขัดข้องให้ศาลทราบกรณีย่อมถือว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณา เมื่อจำเลยมิได้ขอให้ดำเนินการพิจารณาต่อไป การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีจึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 201 วรรคหนึ่ง (เดิม) แล้ว ส่วนที่โจทก์ยื่นคำร้องอ้างว่า ในวันนัดสืบพยานโจทก์ทนายโจทก์มีภารกิจจำเป็นเร่งด่วนและสำคัญไม่อาจไปศาลได้จึงให้นายสมโภชน์ จานแก้ว เสมียนทนายนำคำร้องไปขอเลื่อนคดี ขณะนายสมโภชน์จะไปศาลได้รับแจ้งว่ายายประสบอุบัติเหตุ นายสมโภชน์จึงพายายไปส่งโรงพยาบาลเป็นเหตุให้ไปศาลไม่ทันและกลับไปบอกความเท็จแก่เจ้าหน้าที่สำนักงานทนายโจทก์ว่าได้เลื่อนคดีเรียบร้อยแล้วโดยศาลนัดสืบพยานโจทก์ครั้งต่อไปวันที่ 25 เมษายน 2544 เวลา 9 นาฬิกา เมื่อทนายโจทก์ไปศาลในวันดังกล่าวจึงทราบว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีแล้ว การขาดนัดพิจารณาของโจทก์จึงมิได้เกิดจากความจงใจนั้น ก็เป็นกรณีที่จะต้องไปว่ากล่าวกันระหว่างทนายโจทก์กับเสมียนทนายที่ทำให้เกิดผลเสียหายแก่คดีอีกส่วนหนึ่งมิใช่เรื่องศาลดำเนินกระบวนพิจารณาผิดระเบียบที่โจทก์จะมีสิทธิขอให้เพิกถอนได้ การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดีและไต่สวนถึงเหตุที่โจทก์ไม่มาศาลดังกล่าวเท่ากับเป็นการกล่าวอ้างว่าโจทก์มิได้จงใจขาดนัดพิจารณาและประสงค์จะให้ศาลชั้นต้นนำคดีที่ศาลชั้นต้นจำหน่ายคดีไปแล้วกลับมาทำการพิจารณาต่อไป ซึ่งถือได้ว่าคำร้องของโจทก์ดังกล่าวเป็นคำขอให้พิจารณาใหม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 201 วรรคหนึ่ง (เดิม) ชอบที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งยกคำร้องของโจทก์เสียได้โดยไม่ต้องทำการไต่สวน ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น"
พิพากษายืน