โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งหกร่วมกันหรือแทนกันชำระหนี้ 5,783,410.23 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ของต้นเงิน 5,209,109.69 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จสิ้น โดยให้จำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ 897,360.92 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ของต้นเงิน 809,109.69 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จสิ้น ให้จำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ 5,034,662.10 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ของต้นเงิน 4,538,759 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จสิ้น หากจำเลยทั้งหกไม่ชำระหนี้หรือชำระหนี้ไม่ครบถ้วน ให้บังคับจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างและยึดทรัพย์จำนองตามฟ้องออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์ หากไม่พอชำระหนี้ ให้ยึดทรัพย์สินอื่น ๆ ของจำเลยทั้งหกออกขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยทั้งหกขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งหกร่วมกันหรือแทนกันชำระหนี้ 5,783,410.23 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ของต้นเงิน 5,209,109.69 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 17 มิถุนายน 2562) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จสิ้น โดยให้จำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ 897,360.92 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ของต้นเงิน 809,109.69 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 17 มิถุนายน 2562) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จสิ้น ให้จำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ 5,034,662.10 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ของต้นเงิน 4,538,759 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 17 มิถุนายน 2562) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จสิ้น หากจำเลยทั้งหกไม่ชำระหนี้หรือชำระหนี้ไม่ครบถ้วน ให้บังคับจำนองที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 13325 ถึง 13328 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง และยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์ หากไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่น ๆ ของจำเลยทั้งหกออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้โจทก์จนครบถ้วน กับให้จำเลยทั้งหกใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์เท่าที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์ 220,350.69 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 10 ต่อปี นับแต่วันที่ 26 กันยายน 2561 ถึงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2561 และ 450,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 10 ต่อปี นับแต่วันที่ 6 พฤศจิกายน 2561 ถึงวันที่ 4 มกราคม 2562 และ 138,759 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 10 ต่อปี นับแต่วันที่ 25 มกราคม 2562 ถึงวันที่ 25 มีนาคม 2562 หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้จำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ชำระแทน 4,400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 10 ต่อปี นับแต่วันที่ 6 พฤศจิกายน 2561 ถึงวันที่ 4 มกราคม 2562 และ 138,759 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 10 ต่อปี นับแต่วันที่ 25 มกราคม 2562 ถึงวันที่ 25 มีนาคม 2562 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2551 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ทำคำขอสินเชื่อ ขอให้โจทก์ออกหนังสือค้ำประกันวงเงิน 6,000,000 บาท เพื่อให้หมุนเวียนในกิจการรับเหมาก่อสร้าง มีข้อตกลงว่า หากโจทก์ได้รับความเสียหายใด ๆ ในการออกหนังสือค้ำประกัน จำเลยที่ 2 จะชดใช้ค่าเสียหายให้ทันทีและยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำนวนเงินที่โจทก์จ่ายแทนไปในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี หรือในอัตราสูงสุดที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้า โดยมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2554 และวันที่ 7 สิงหาคม 2555 ยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ต่อมาโจทก์ออกหนังสือค้ำประกันให้หน่วยงานต่าง ๆ 4 ฉบับ ฉบับที่ 1 เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2558 โจทก์ออกหนังสือค้ำประกันให้แก่บริษัท พ. ซึ่งจำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อขายเหล็กเส้น เหล็กรูปพรรณและวัสดุก่อสร้าง มีการต่ออายุหนังสือค้ำประกัน ถึงวันที่ 6 ธันวาคม 2559 ฉบับที่ 2 เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2559 โจทก์ออกหนังสือค้ำประกันให้แก่บริษัท พ. เพื่อค้ำประกันใบเสนอราคา 700,000 บาท มีการต่ออายุหนังสือค้ำประกันถึงวันที่ 17 กันยายน 2561 ฉบับที่ 3 เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2561 โจทก์ออกหนังสือค้ำประกันให้แก่บริษัท พ. เพื่อค้ำประกันการซื้อขายวัสดุก่อสร้างในโครงการก่อสร้างอาคารจอดรถ 10 ชั้น ของโรงพยาบาล ป. อาคารหอพักนักศึกษาและอาจารย์ในวิทยาลัยพยาบาล พ. และโครงการก่อสร้างอาคารจอดรถโรงพยาบาล ต. 500,000 บาท และฉบับที่ 4 เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2560 โจทก์ออกหนังสือค้ำประกันให้แก่บริษัท จ. เพื่อค้ำประกันการซื้อขายวัสดุก่อสร้างในโครงการก่อสร้างอาคารเรียนรวมในมหาวิทยาลัยราชภัฏ ว. มีการต่ออายุหนังสือค้ำประกันจนถึงวันที่ 24 มีนาคม 2561 นอกจากนี้เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2559 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ทำคำขอสินเชื่อขอให้โจทก์ออกหนังสือค้ำประกันวงเงิน 4,400,000 บาท เพื่อใช้ในงานก่อสร้างอาคารจอดรถของโรงพยาบาล ป. โดยจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกัน ต่อมาในวันที่ 26 ธันวาคม 2560 จำเลยที่ 1 ทำบันทึกข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาสินเชื่อดังกล่าว โดยจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ค้ำประกันในวงเงิน 17,600,000 บาท มีกำหนดระยะเวลาประกัน 30 ปี ซึ่งเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2559 โจทก์ออกหนังสือค้ำประกันสัญญาก่อสร้างอาคารจอดรถของโรงพยาบาล ป. วงเงิน 4,400,000 บาท เพื่อเป็นประกันการค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2551 จำเลยที่ 2 ทำสัญญาจำนองที่ดินตาม น.ส.3 ก. เลขที่ 13325 ถึง 13328 พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันหนี้ 4,600,000 บาท ตกลงเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี มีข้อตกลงว่าหากบังคับจำนองได้เงินสุทธิน้อยกว่าจำนวนหนี้ที่ค้างชำระ จำเลยที่ 2 ยอมชดใช้จนครบถ้วน ต่อมาวันที่ 11 กรกฎาคม 2554 จดทะเบียนปลอดจำนองที่ดิน น.ส. 3 ก. 13728 ในวันที่ 22 มกราคม 2559 จำเลยที่ 2 ทำสัญญาจำนองลำดับสอง สำหรับที่ดินตาม น.ส.3 ก. เลขที่ 13325 ถึง 13327 เป็นประกันหนี้ 2,360,000 บาท และทำสัญญาจำนองที่ดินตาม น.ส.3 ก. เลขที่ 13328 เป็นประกันหนี้ 1,080,000 บาท ต่อมาในวันที่ 7 มีนาคม 2561 จำเลยที่ 2 ทำสัญญาจำนองลำดับสามสำหรับที่ดินตาม น.ส. 3 ก. เลขที่ 13325 ถึง 13327 เป็นประกันหนี้ 3,600,000 บาท และวันที่ 25 กันยายน 2561 จำเลยที่ 2 ทำสัญญาจำนองลำดับสี่สำหรับที่ดินตาม น.ส.3 ก. เลขที่ 13325 ถึง 13327 เป็นประกันหนี้ 2,804,800 บาท ภายหลังบริษัท พ. มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ชำระเงินแทนจำเลยที่ 1 ตามหนังสือค้ำประกัน รวม 3 ครั้ง เป็นเงิน 300,000 บาท 700,000 บาท และ 500,000 บาท ตามลำดับ ซึ่งเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2561 โจทก์ชำระหนี้แทนรวม 1,500,000 บาท จำเลยที่ 1 ชำระหนี้คืนโจทก์ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2561 จำนวน 1,280,389.04 บาท โจทก์นำมาหักชำระต้นเงินและดอกเบี้ยได้บางส่วนคงเหลือต้นเงิน 220,350.69 บาท ส่วนบริษัท จ. มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ชำระเงินแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2561 โจทก์ชำระเบี้ยประกันภัยแทนจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 450,000 บาท ส่วนโรงพยาบาล ป. มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ชำระเงินตามหนังสือค้ำประกัน ซึ่งเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2561 โจทก์ชำระเบี้ยประกันภัยแทนจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 4,400,000 บาท นอกจากนี้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ได้ทำหนังสือค้ำประกันสินเชื่อส่วนที่ขาดหลักประกันของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ในวงเงิน 9,240,000 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องชำระค่าธรรมเนียมค้ำประกันดังกล่าวเป็นรายปีล่วงหน้าทุกปี หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระก็ตกลงให้โจทก์ทดรองจ่ายแทนโดยจำเลยที่ 1 ต้องชำระคืน ซึ่งเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2562 โจทก์ทดรองจ่ายค่าธรรมเนียมดังกล่าวแทนจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 138,759 บาท โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยทั้งหกชำระหนี้แล้ว แต่จำเลยทั้งหกเพิกเฉย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเหลือร้อยละ 10 ต่อปี เป็นการชอบหรือไม่ เห็นว่า ที่โจทก์เรียกให้จำเลยทั้งหกชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ภายหลังจากจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้แก่โจทก์นั้น เนื่องจากโจทก์อาศัยข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ตามคำขอสินเชื่อ คำขอสินเชื่อธุรกิจ ประเภทวงเงินออกหนังสือค้ำประกัน คำขอและข้อตกลงยินยอมให้ธนาคารออก/หรือต่ออายุหนังสือค้ำประกัน ที่ระบุว่า "หากโจทก์ได้รับความเสียหายใด ๆ ในการออกหนังสือค้ำประกัน ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายเงินตามหนังสือค้ำประกัน ค่าธรรมเนียม หรือค่าใช้จ่ายใด ๆ ตลอดจนค่าปรับต่าง ๆ จำเลยที่ 1 จะรับผิดชำระหนี้คืนให้แก่โจทก์ทันทีพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี หรือในอัตราสูงสุดที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้าได้ นับแต่วันที่โจทก์จ่ายเงินตามหนังสือค้ำประกันนั้นไป" ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวจะเห็นว่าโจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี จากจำเลยที่ 1 ได้ก็ต่อเมื่อโจทก์ได้รับความเสียหายอย่างใด ๆ ในการออกหนังสือค้ำประกันจำเลยที่ 1 ข้อตกลงดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าในกรณีลูกหนี้ไม่ชำระหนี้อันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 ซึ่งหากสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยว่าดอกเบี้ยผิดนัดดังกล่าวเป็นเบี้ยปรับนั้น ชอบแล้ว และที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ใช้ดุลพินิจปรับลดอัตราดอกเบี้ยจากร้อยละ 18 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 10 ต่อปี นั้น เหมาะสมแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อไปมีว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาให้จำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 รับผิดในดอกเบี้ยผิดนัดเพียง 60 วัน เป็นการชอบหรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยทั้งหกขาดนัดยื่นคำให้การ แต่โจทก์ก็ยังมีหน้าที่นำสืบข้อเท็จจริงให้ได้ความตามฟ้อง ซึ่งปัญหาว่าผู้ค้ำประกันต้องรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ตามมาตรา 686 เดิม หรือตามมาตรา 686 ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 ที่แก้ไขใหม่หรือไม่เพียงใด ถือเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ยกประเด็นดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยจึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน และที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 เห็นว่า โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 เรียกให้ชำระหนี้ที่โจทก์จ่ายแทนจำเลยที่ 1 ไป เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2562 และเรียกให้ชำระค่าธรรมเนียม เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2562 ซึ่งเกิน 60 วัน นับแต่วันที่โจทก์ชำระหนี้ไปแทนอันถือเป็นวันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด จำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 จึงหลุดพ้นจากความรับผิดในเบี้ยปรับซึ่งเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้บรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 686 วรรคสอง ที่แก้ไขใหม่ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 แม้จำเลยที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันก่อนวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ แต่มาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า ในกรณีที่ลูกหนี้ผิดนัดนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ สิทธิและหน้าที่ของเจ้าหนี้และผู้ค้ำประกัน ให้เป็นไปตามมาตรา 686 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ บทบัญญัติของมาตรา 686 ที่แก้ไขใหม่จึงต้องบังคับใช้กับสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 3 ทำไว้กับโจทก์ด้วย ชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ