โจทก์ฟ้อว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย ทำหน้าที่ขับเครนขันเหล็กจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยอ้างว่าโจทก์เมาสุราขณะทำงาน ทำให้ทรัพย์สินเสียหาย เป็นการผิดระเบียบข้อบังคับอย่างร้ายแรง ซึ่งไม่เป็นความจริง เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การต่อสู้คดีและฟ้อแย้งว่า โจทก์ซึ่งมีหน้าที่ขับเครนยกเหล็กสิบตันแผนกคลังสินค้า ได้ละทิ้งงานออกไปจากบริเวณโรงงานตั้งแต่เวลา 8.30 นาฬิกา โดยไม่ได้รับอนุญาต กลับเข้าไปทำงานในอาการมึนเมาสุรา โดยยกของหนักสืบตันผ่านคนงานที่กำลังทำงานอยู่ ซึ่งอาจเป็นอันตรายอย่างร้ายแรงต่อชีวิตและทรัพย์สินที่อยู่ข้างล่าง และโจทก์ได้ละทิ้งหน้าที่ออกไปจากโรงงานตั้งแต่เวลา9 ถึง 12 นาฬิกา ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าไม่ทันตามกำหนด และถูกบริษัทผู้รับขนส่งปรับ ขอให้ยกฟ้องโจทก์และบังคับให้โจทก์ชำระค่าเสียหายจำนวน 95,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างในวันลาป่วยค่าจ้างค้างจ่ายและเงินประโยชน์แก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก และให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า "โจทก์อุทรณ์สรุปเป็นใจความว่า โจทก์ไม่ได้ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรงตามเอกสารหมาย ล.2 ข้อ 9.3.5 ซึ่งกำหนดว่า"ห้ามพนักงานดื่มหรือเสพสุรา เครื่องดองของเมา หรือยาเสพติดใด ๆ ในขณะปฏิบัติงานหรือในบริเวณโรงงานหรือบริษัทฯ...โดยมิได้รับอนุญาตจากฝ่ายบริหารเป็นอันขาด ผู้ใดฝ่าฝืนถือเป็นความผิด"และข้อ 9.8.2 กำหนดว่า "การกระทำความผิดดังต่อไปนี้ บริษัทฯถือว่าเป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง...ดื่มสุรา...ในบริเวณบริษัทฯ" ระเบียบข้อบังคับดังกล่าวมีข้อความระบุชัดว่า จะต้องเป็นการดื่มในบริเวณโรงงานเท่านั้น แต่โจทก์เมาสุราจากข้างนอกแล้วกลับเข้าไปทำงานจึงไม่ผิดระเบียบ นั้น เห็นว่า ระเบียบข้อบังคับของจำเลยข้อ 9.3.5 ดังกล่าวมีความมุ่งหมายที่จะห้ามมิให้พนักงานมึนเมาสุราในขณะปฏิบัติงานเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายแก่กิจการของจำเลยและผู้ปฏิบัติงานในสถานที่ทำงานของจำเลยดังนั้นการที่โจทก์ออกไปดื่มสุราหรือเครื่องดองของเมาข้างนอกบริษัทฯ และเมาสุรากลับเข้าไปทำงานในโรงงานหรือบริษัทฯย่อมถือได้ว่าโจทก์เมาสุราในขณะปฏิบัติงานนั่นเอง ซึ่งถือว่าโจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับดังกล่าว ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับดังกล่าวไม่เป็นกรณีร้ายแรงนั้น เห็นว่าศาลแรงงานกลางได้ฟังข้อเท็จจริงว่า งานขับรถเครนยกของหนักที่โจทก์ทำต้องใช้ความระมัดระวังอย่างสูงและเคยมีอุบัติเหตุเกี่ยวกับเครน ทำให้พนักงานของจำเลยได้รับบาดเจ็บสาหัส เมื่อปรากฎว่าโจทก์เมาสุราเข้ามาปฏิบัติงานซึ่งต้องใช้ความระมัดระวังอย่างสูงการกระทำของโจทกืดังกล่าวย่อมถือว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับในกรณีร้ายแรง ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 47 (3) จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและไม่จำต้องตักเตือนเป็นหนังสือก่อนดังที่โจทก์อ้าง ทั้งจำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมนั้น เห็นว่าเมื่อการกระทำของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเป็นกรณีร้ายแรงดังได้วินิจฉัยมาข้างต้น การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงมีเหตุอันสมควร ไม่ใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมดังที่โจทก์อ้าง"
พิพากษายืน.