ได้ความว่ากระบือของ ช.กับพวกปล่อยเลี้ยงไว้หายไปโดยไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ร้าย ครั้นรุ่งขึ้น ส. ผู้ใหญ่บ้านกับพวกเห็นจำเลยนี้เป็นผู้พากระบือของกลางไปจึงจับไว้โดยสงสัยว่าจะเป็นผู้ร้ายลักของใครมา ในขณะจะจับกุม ล. จำเลยชักมีดจะต่อสู้พวกที่จับกุม ๆ นี้อยู่ต่างตำบลกับเจ้าทรัพย์ ทั้งไม่ทราบว่ากระบือของใครหายด้วย ระยะทางที่จับจำเลยได้ห่างจากที่กระบือของ ช.ปล่อยเลี้ยงไว้ประมาณ ๙๐๐ เส้น ต่อมาเจ้าทรัพย์ทราบเข้าไปดูก็จำได้ว่าเป็นกระบือของตน ห. จำเลยรับสารภาพว่าได้เป็นผู้ร้ายรายนี้ ส่วนจำเลยอื่นอีก ๔ คนปรากฎว่าในวันกระบือหายจำเลยมีฐานที่อยู่ หาได้สมคบกับ ห. มาแต่แรกเมื่อลักกระบือนี้ไม่โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา ๒๙๖-๓๐๑
ศาลเดิมตัดสินว่า ห.ล.ค.จำเลยมีผิดตามมาตรา ๓๐๑ ส่วน ร.ป.มีผิดตามมาตรา ๒๙๖
ล.ค. จำเลย ๒ คนเท่านั้นอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ตัดสินแก้ว่า ห.มีผิดตามมาตรา ๒๙๖ - ๕๙ ล.ค.ร.ป. มีผิดตามมาตรา ๓๒๑ แล ล. มีผิดตามมาตรา ๑๒๐ อีกกะทงหนึ่ง แม้มาตรานี้โจทก์จะไม่ได้ขอมา ก็ดีศาลก็ลงโทษได้ เพราะฟ้องโจทก์กล่าวความไว้ ชัดเจนแล้ว แลจำเลยอื่นที่มิได้อุทธรณ์ขึ้นมานั้นศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจแก้ไขได้เพราะเป็นการแก้ไขในลักษณคดี
ศาลฎีกาเห็นว่าคดีนี้โจทก์ไม่มีพะยานสืบว่าใครเป็นผู้ร้ายรายนี้ที่จะลงโทษ ห.ฐานลักกระบือได้ก็โดยคำรับของ ห.เอง และเหตุการณ์ขาดตอนกันมา ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยนอกจาก ห. มีผิดฐานรับของโจรเพราะไม่ได้สมคบกัน ห.ในการลักทรัพย์มาแต่แรกนั้นชอบแล้ว ฉะนั้นแม้ ล.จะชักมีดออกเพื่อต่อสู้ผู้จับกุมก็ดีกิริยาเช่นนี้ก็ไม่ทำให้เป็นการปล้นทรัพย์ ล. มีผิดตามมาตรา ๑๒๐ อีกกะทงหนึ่งเท่านั้นแม้โจทก์จะมิได้อ้างมาตรานี้มาในฟ้องก็ดี เมื่อโจทก์ได้บรรยายเหตุการณ์ไว้ในฟ้องชัดเจนแล้วก็ลงโทษตามมาตรานี้ได้ จึงตัดสินยืน