โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91, 264, 265, 266, 268, 341 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือชดใช้เงินที่ยังไม่ได้คืน 500,000 บาท แก่ผู้เสียหาย นับโทษจำเลยทั้งสองต่อจากโทษจำคุกของจำเลยทั้งสองในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 264/2560 ของศาลชั้นต้น และริบโฉนดที่ดินปลอมของกลาง
ระหว่างพิจารณานางสาวฉวีวรรณ ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยานโจทก์ จำเลยทั้งสองขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ก่อนศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษา โจทก์ร่วมแถลงว่าได้รับชดใช้ค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองครบถ้วนและเป็นที่พอใจแล้ว ขอถอนคำร้องทุกข์จำเลยทั้งสอง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะข้อหาร่วมกันฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2)
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265, 266 (1), 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264, 265, 266 (1), 83 ฐานร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการ และฐานร่วมกันใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอม จำเลยทั้งสองเป็นผู้ร่วมกันปลอมและใช้เอกสารดังกล่าว จึงให้ลงโทษฐานร่วมกันใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 266 (1) แต่กระทงเดียว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง จำคุกคนละ 3 ปี และปรับคนละ 30,000 บาท จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือน และปรับคนละ 15,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี คุมความประพฤติจำเลยทั้งสองมีกำหนด 1 ปี โดยให้จำเลยทั้งสองไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง ตามเงื่อนไขและกำหนดระยะเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควร กับให้กระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรเป็นเวลา 36 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 (ที่ถูก ที่แก้ไขใหม่) ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 (ที่แก้ไขใหม่)) ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำเลยทั้งสองต่อจากโทษจำคุกของจำเลยทั้งสองในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 264/2560 ของศาลชั้นต้นนั้น ปรากฏว่าคดีดังกล่าวศาลรอการลงโทษจึงนับโทษต่อไม่ได้ ให้ยกคำขอและริบโฉนดที่ดินปลอมของกลาง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคแรก (เดิม), 265 (เดิม), 266 (1), 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก (เดิม), 265 (เดิม), 266 (1), 83 จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 2 ปี ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุกคนละ 1 ปี ไม่ลงโทษปรับ ไม่รอการลงโทษจำคุก และไม่คุมความประพฤติจำเลยทั้งสอง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า จำเลยทั้งสองเป็นเพียงนายหน้า ไม่มีความรู้ความสามารถและความเชี่ยวชาญที่จะทำปลอมโฉนดที่ดินให้เหมือนจริงจนถึงขนาดนำไปใช้จนโจทก์ร่วมหลงเชื่อว่าโฉนดที่ดินที่มีผู้นำมาวางเป็นประกันเงินกู้แก่โจทก์ร่วมเป็นโฉนดที่แท้จริง ทำนองว่าจำเลยทั้งสองไม่ได้ร่วมทำปลอมโฉนดที่ดินและใช้โฉนดที่ดินปลอมตามฟ้องนั้น เห็นว่า ชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยทั้งสองถอนคำให้การเดิมที่ปฏิเสธเป็นให้การรับสภาพตามฟ้อง ข้ออ้างของจำเลยทั้งสองดังกล่าว นอกจากจะเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพแล้ว ยังเป็นการยกข้อเท็จจริงใหม่ขึ้นมากล่าวอ้างในชั้นฎีกาที่ขัดกับคำให้การรับสารภาพของจำเลยทั้งสอง จึงเป็นปัญหาที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย เมื่อจำเลยที่ 1 ฎีกาเพียงขอให้รอการลงโทษ ส่วนจำเลยที่ 2 ฎีกาขอให้ลงโทษในสถานเบาและรอการลงโทษ เห็นสมควรวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 2 ในข้อแรกก่อนแล้วจึงวินิจฉัยฎีกาข้อสุดท้ายไปพร้อมฎีกาของจำเลยที่ 1
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อแรกว่า มีเหตุที่จะลงโทษจำเลยที่ 2 ในสถานเบาหรือไม่ เห็นว่า โทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 266 (1) ที่ศาลล่างทั้งสองนำมาปรับบทลงโทษจำเลยที่ 2 นั้น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วางโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ก่อนลดโทษจำคุก 2 ปี นับว่าเหมาะสมแก่พฤติการณ์การกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 แล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะลงโทษเบาลงกว่านี้ และขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 2 อายุกว่ายี่สิบปีไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะลดมาตราส่วนโทษให้ได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่มีเพียงข้อเดียวไปพร้อมกับฎีกาข้อสุดท้ายของจำเลยที่ 2 ว่า มีเหตุสมควรที่จะรอลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า โฉนดที่ดินเป็นเอกสารสำคัญของทางราชการที่ออกให้โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานในการแสดงการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดิน การที่จำเลยที่ 2 กับพวกร่วมกันทำปลอมโฉนดที่ดินขึ้นทั้งฉบับ นับว่าก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงแก่ทางราชการแล้ว ยังทำให้ผู้พบเห็นโฉนดที่ดินที่ทางราชการออกให้แก่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินขาดความเชื่อมั่นอันมีผลกระทบต่อการนำไปใช้เป็นหลักประกันในการทำธุรกรรมต่าง ๆ และระบบเศรษฐกิจของประเทศ พฤติการณ์แห่งคดีนับว่าเป็นเรื่องร้ายแรง แม้จำเลยทั้งสองจะมีภาระต่าง ๆ ตามที่กล่าวมาในฎีกา ก็ล้วนแต่เป็นภาระมีผู้ที่อยู่ในสภาวะเช่นจำเลยทั้งสองก็มีภาระไม่ต่างจากจำเลยทั้งสอง ส่วนที่จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ร่วมก็เป็นสิทธิของโจทก์ร่วมที่พึงจะได้รับชดใช้ค่าเสียหายจากการกระทำของจำเลยทั้งสองอยู่แล้ว รวมไปถึงที่จำเลยทั้งสองไม่เคยรับโทษจำคุกมาก่อน ก็ไม่มีเหตุสมควรที่จะปรานีด้วยการรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยทั้งสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยทั้งสอง ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง เมื่อสิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดฐานฉ้อโกงระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2) ย่อมทำให้คำขอในส่วนแพ่งของโจทก์และโจทก์ร่วมที่ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงิน 500,000 บาท แก่โจทก์ร่วมตกไปด้วย ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า ยกคำขอของโจทก์ที่ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือชดใช้เงินที่ยังไม่ได้คืน 500,000 บาท แก่โจทก์ร่วม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3