โจทก์ฟ้องขอบังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 7,800,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยคู่ความไม่ฎีกาว่า เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2560 โจทก์สั่งจ่ายเช็คธนาคาร ก. สาขาอุดรธานี ลงวันที่ 19 เมษายน 2560 จำนวนเงิน 7,800,000 บาท แล้วนำฝากเข้าบัญชีธนาคาร ก. ซึ่งเป็นของจำเลยที่ 2 โจทก์มอบให้ทนายความมีหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้แล้ว โจทก์และจำเลยที่ 1 มีการสนทนาผ่านระบบแอปพลิเคชันไลน์ระหว่างกัน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันกู้ยืมเงิน 7,800,000 บาท ไปจากโจทก์หรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีนายปัญญา ผู้รับมอบอำนาจโจทก์มาเบิกความประกอบข้อความสนทนาผ่านแอปพลิเคชันไลน์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยทั้งสองมีนายสนั่น ผู้รับมอบอำนาจจำเลยทั้งสองมาเบิกความประกอบข้อความสนทนาผ่านแอปพลิเคชันไลน์ระหว่างโจทก์ จำเลยที่ 1 และบุคคลภายนอก โดยพยานโจทก์และพยานจำเลยทั้งสองมิได้เป็นประจักษ์พยานที่รู้เห็นการกู้ยืมเงินและการลงทุนของโจทก์กับจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด จึงต้องพิจารณาจากข้อความสนทนาผ่านแอปพลิเคชันไลน์อันเป็นเอกสารที่คู่ความทั้งสองฝ่ายอ้างส่งศาล แม้ข้อความสนทนาผ่านระบบแอปพลิเคชันไลน์ระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นการสนทนาผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตถือว่าเป็นการส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 และเป็นหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยที่ 1 ตามที่โจทก์ฎีกาก็ตาม แต่ข้อมูลดังกล่าวจะรับฟังเป็นยุติได้หรือไม่นั้นต้องพิเคราะห์ข้อความสนทนาผ่านแอปพลิเคชันไลน์ ประกอบกันซึ่งเป็นข้อความสนทนาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ในลักษณะโจทก์ทวงถามเงินที่อ้างว่าจำเลยที่ 1 กู้ยืมจากโจทก์ไป 7,800,000 บาท เป็นการส่งข้อความสนทนาระหว่างกันเฉพาะวันที่ 3 ตุลาคม 2560 และวันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 เท่านั้น โดยข้อความสนทนาในวันที่ 3 ตุลาคม 2560 โจทก์ส่งข้อความว่า "ถ้าเร็วกว่านี้ได้ก็ดีครับ เพราะผมเห็นว่า สสไผ่น่าจะมีรายได้แล้ว เรื่องรถหรืออะไรก็ตามเพราะเป็น สส แล้วถ้าช่วยผมได้ก่อนเงินแค่ 7.8 ล้านผมว่า สสไผ่มีอยู่แล้ว..." ในแผ่นที่ 5 ปรากฏข้อความที่จำเลยที่ 1 ส่งมาว่า "เดียวผมจัดการให้ครับ" "คันq7 ครับ" และ "ภายในสิ้นเดือนครับ" ซึ่งโจทก์ส่งข้อความกลับมาว่า "ผมจำคันไม่ได้แต่เอาว่าที่ สสไผ่คุยกับผมว่าคัน 7.8 ล้าน เป็นของ สสไผ่เอง เอาตรงนี้ สสไผ่ เอาคันที่ สสไผ่เอาเงินผมไปเพราะ สสไผ่รู้ดีครับ บัญชีที่ สสไผ่มี ผมเอาตามบัญชีที่ สส.ไผ่ก็แล้วกันครับ" จำเลยที่ 1 ส่งข้อความว่า "ครับผมเต็มที่ครับ" "ไงผมก็ต้องจัดการครับ" "ผมแค่อธิบายเฉยๆครับเพิ่งไล่ดูครับ" ในแผ่นที่ 6 โจทก์ส่งข้อความต่อมาว่า "ยังไม่ได้คืนคันสุดท้ายที่ผมโอนไปให้ 7.8 สสไผ่ก็ยังบอกผมที่วังเด็ก 7.8 ยอดนี้เป็นของ สสไผ่จะรีบโอนให้ไงครับ" ซึ่งข้อความสนทนาเช่นเดียวกันนี้ ปรากฏเอกสารและข้อความที่จำเลยที่ 1 ส่งแทรกเข้ามาต่อจากที่โจทก์ส่งข้อความแรก ซึ่งเป็นเอกสารรายการรถยนต์คันที่ 9 ถึงคันที่ 17 โดยมีเส้นสีดำวงไว้ในคันที่ 14 ที่มีข้อความว่า คันที่ 14 new Nissan gtr คันนี้วางไว้ 8 เดือนแล้ว ยอดวาง 8,000,000 บาท ดอกเบี้ยงวดละ 200,000 บาท (ค้างจ่ายดอกเบี้ย 5 งวด) และมีข้อความที่จำเลยที่ 1 ส่งตามมาว่า "ยอดนี้นะครับ" และ "ยอดรถพ่อผมคืนไปแล้วครับ" แล้วจึงเป็นข้อความที่โจทก์ส่งมาว่า "ผมจำคันไม่ได้แต่เอาว่าที่ สสไผ่คุยกับผมว่าคัน 7.8 ล้านเป็นของ สสไผ่เอง เอาตรงนี้ สสไผ่ เอาคันที่ สสไผ่เอาเงินผมไปเพราะ สสไผ่รู้ดีครับ..." ตามที่ปรากฏข้างต้น จากข้อความสนทนาตามเอกสารทั้งสองดังกล่าวมีข้อความสอดคล้องเชื่อมโยงกันโดยเฉพาะเวลาที่ส่งข้อความเป็นลำดับกัน และข้อความเอกสารที่จำเลยที่ 1 ส่งให้แก่โจทก์ เป็นข้อความที่ถูกตัดออกไปจากข้อความสนทนา เมื่อพิจารณาแล้วทำให้เห็นว่า เงินจำนวน 7,800,000 บาท ที่จำเลยที่ 1 รับไปผ่านบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 นั้น เกี่ยวข้องกับรถยนต์ตามที่จำเลยที่ 1 ส่งเอกสาร และเมื่อพิจารณาจากเอกสาร ซึ่งโจทก์ส่งให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 2 และ 3 พฤศจิกายน 2560 ปรากฏรายการรถยนต์จำนวน 14 คัน ซึ่งตรงกับเอกสารที่จำเลยที่ 1 ส่งให้โจทก์ โดยเฉพาะรถยนต์คันที่ 14 ยกเว้นงวดที่ค้างจ่ายของรถยนต์แต่ละคันที่แตกต่างกันตามเวลาที่ส่งข้อความเท่านั้น เมื่อพิจารณาระยะเวลาวางรถยนต์คันที่ 14 จากเอกสารดังกล่าวตามเวลาที่มีการส่งข้อความแต่ละครั้งก็สอดคล้องกับระยะเวลาที่จำเลยที่ 1 รับเงินไปจากโจทก์ นอกจากนี้ข้อความสนทนาผ่านระบบแอปพลิเคชันไลน์เป็นข้อความสนทนาระหว่างกันเพิ่มเติมอีกหลายครั้ง โดยโจทก์อ้างเพียงฝ่ายเดียวว่าจำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์ 7,800,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 1 คงส่งข้อความตอบรับโดยใช้ถ้อยคำแต่เพียงว่าจะติดตามเงินจำนวนดังกล่าวให้ มิได้ยอมรับโดยชัดแจ้งว่ามีการกู้ยืมเงินกัน จำเลยที่ 1 ยังส่งข้อความสนทนาในลักษณะว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเรื่องการวางรถยนต์ที่ร่วมลงทุนกัน แต่รถยนต์ถูกอายัด จำเลยที่ 1 พยายามติดตามให้นายบอยหรือนายอินทระศักดิ์ ชำระหนี้ดังกล่าวให้แก่โจทก์ และยังมีข้อความสนทนาที่นายบอยขอชำระหนี้ให้แก่โจทก์ด้วย ทำให้มีน้ำหนักเชื่อได้ว่าโจทก์กับนายบอยร่วมลงทุนเกี่ยวกับรถยนต์ราคาแพง (รถซุปเปอร์คาร์) รวมถึงรถยนต์คันที่ 14 ข้างต้น โดยมีจำเลยที่ 1 มีส่วนร่วมรู้เห็นตามที่จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้ไว้ อีกทั้งการกู้ยืมเงินจำนวนมากเช่นนี้ทางนำสืบของโจทก์กลับไม่ปรากฏมีการเรียกผลประโยชน์หรือดอกเบี้ยเป็นการตอบแทนกันอันเป็นการผิดปกติวิสัย ข้อความสนทนาตามที่โจทก์นำสืบมายังไม่พอมีน้ำหนักฟังได้ว่า เงินจำนวน 7,800,000 บาท ที่โจทก์มอบให้แก่จำเลยที่ 1 ไปเป็นเงินกู้ยืม และไม่อาจถือเป็นหลักฐานกู้ยืมเงินเป็นหนังสือที่จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อไว้แล้วหรือเป็นหนังสือรับสภาพหนี้เงินกู้ยืมตามพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง และมาตรา 9 ตามที่โจทก์ฎีกา อันจะนำมาฟ้องร้องให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคหนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ