โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดินหมู่ที่ 9 (เดิมหมู่ที่ 5) ตำบลไม้งาม อำเภอเมืองตากจังหวัดตาก เนื้อที่ 19 ไร่ โจทก์ที่ 2 เป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดินตามใบ ภ.บ.ท.6 เนื้อที่ 30 ไร่ ที่ดินของโจทก์ทั้งสองอยู่ติดต่อกัน โจทก์ที่ 1 ได้ครอบครองทำประโยชน์ต่อจากนายตา วังกาวี บิดาโจทก์ที่ 1 ตลอดมาจนปัจจุบันเป็นเวลา10 ปีเศษแล้ว ส่วนโจทก์ที่ 2 ได้ครอบครองทำประโยชน์ตั้งแต่ปี 2482 ตลอดมาจนปัจจุบันเป็นเวลา 50 ปีเศษแล้ว เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2533 โจทก์ทั้งสองยื่นขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) ของที่ดินที่ครอบครอง จึงทราบว่าจำเลยได้ยื่นคำขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 1708 ตำบลไม้งามอำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก ทับที่ดินของโจทก์ทั้งสองไว้แล้วเป็นเหตุให้เจ้าพนักงานที่ดินอำเภอเมืองตากไม่สามารถออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่โจทก์ทั้งสองได้ ขอให้พิพากษาว่าโจทก์ทั้งสองเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามแผนที่ท้ายฟ้องหมู่ที่ 9 (เดิมหมู่ที่ 5) ตำบลไม้งาม อำเภอเมืองตากจังหวัดตาก ขอให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3)เลขที่ 1708 ตำบลไม้งาม อำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก
จำเลยให้การว่า โจทก์ทั้งสองจะเป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดินตามฟ้องหรือไม่ จำเลยไม่ทราบไม่รับรอง จำเลยเป็นผู้มีชื่อในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 1708 เลขที่ดิน 29ตำบลไม้งาม อำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก เนื้อที่ 36 ไร่ 3 งาน3 ตารางวา ซึ่งได้มาโดยถูกต้องตามกฎหมายโจทก์ทั้งสองมิได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่พิพาทส่วนของตนตามกรอบสีเขียวในแผนที่พิพาทเอกสารหมาย จ.1 ให้เพิกถอน น.ส.3 ก. เลขที่ 1708ตำบลไม้งาม อำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก ตามกรอบสีเขียวในแผนที่พิพาทเอกสารหมาย จ.1
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ทั้งสองกล่าวฟ้องเป็นสาระสำคัญว่าโจทก์ที่ 1 กับโจทก์ที่ 2 ต่างเป็นเจ้าของที่ดินคนละแปลง จำเลยเข้ามาแย่งการครอบครองและขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินของโจทก์ทั้งสองเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์แต่ละคน ขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์แต่ละคน เห็นได้ว่า ที่ดินพิพาทมีสองแปลงซึ่งโจทก์แต่ละคนอ้างว่าเป็นเจ้าของเพียงแต่ที่ดินของโจทก์ทั้งสองมีเขตติดต่อกันเท่านั้น เป็นเรื่องที่โจทก์แต่ละคนต่างถูกโต้แย้งสิทธิ แม้โจทก์ทั้งสองจะฟ้องรวมกันมาก็ต้องถือทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนแยกกัน ดังนั้นทุนทรัพย์ของคดีนี้จึงต้องคิดแยกเป็นของโจทก์แต่ละคน คดีนี้เป็นคดีที่โจทก์ทั้งสองฟ้องเรียกสิทธิครอบครองที่ดินจากจำเลย จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ตามราคาที่ดินแต่ละแปลงที่โจทก์แต่ละคนฟ้อง เมื่อทุนทรัพย์หรือราคาทรัพย์สินที่พิพาทกันในชั้นฎีกาของโจทก์แต่ละคนไม่เกินสองแสนบาท จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 วรรคหนึ่ง ฎีกาของจำเลยที่ว่า ที่พิพาทเป็นของจำเลยมิใช่เป็นของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 2 เป็นฎีกาในข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวข้างต้น
พิพากษายกฎีกาจำเลย