โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 4, 21, 40, 42, 65, 66 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 และปรับจำเลยรายวันตามกฎหมายนับแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2551 อันเป็นวันที่จำเลยฝ่าฝืนจนกว่าจำเลยจะดำเนินการรื้อถอน
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 21, 65 วรรคหนึ่งและวรรคสอง, 42, 66 ทวิ วรรคหนึ่งและวรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานดัดแปลงอาคารโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 เดือน และปรับ 30,000 บาท กับปรับรายวัน วันละ 150 บาท นับแต่วันที่ดัดแปลงอาคารโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย จนถึงวันก่อนครบกำหนดรื้อถอนตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น คือวันที่ 1 พฤศจิกายน 2550 จนถึงวันที่ 2 กรกฎาคม 2551 เป็นเวลา 245 วัน เป็นเงิน 36,750 บาท และฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้รื้อถอนอาคารแล้วจำเลยไม่ปฏิบัติตาม จำคุก 6 เดือน และปรับ 20,000 บาท กับปรับรายวัน วันละ 150 บาท นับแต่วันครบกำหนดรื้อถอนตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นแล้วจำเลยไม่ปฏิบัติตาม คือวันที่ 3 กรกฎาคม 2551 จนกว่าจำเลยจะได้ดำเนินการรื้อถอนเสร็จสิ้น เมื่อคำนวณถึงวันฟ้อง (วันที่ 8 พฤษภาคม 2556) เป็นเวลา 1,770 วัน เป็นเงิน 265,500 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กระทงละกึ่งหนึ่ง รวมสองกระทง คงจำคุก 3 เดือน 15 วัน และปรับ 25,000 บาท กับคงปรับรายวัน วันละ 75 บาท เป็นเงิน 151,125 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 โดยให้กักขังไม่เกินหนึ่งปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ปรับรายวันหลังจากวันที่ 11 มิถุนายน 2551 สำหรับความผิดฐานดัดแปลงอาคารโดยไม่ได้รับใบอนุญาต นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า ฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมายและครบองค์ประกอบความผิดหรือไม่ สำหรับความผิดฐานดัดแปลงอาคารโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าการก่อสร้างเสาเหล็ก (วายแฟร้งค์) ถือเป็นส่วนหนึ่งของอาคาร และคำนิยามคำว่าดัดแปลง ไม่มีคำว่าทำการก่อสร้างเสาเหล็ก (วายแฟร้งค์) ทั้งโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยก่อสร้างดัดแปลงอาคารตั้งแต่ชั้นที่ 1 ถึงชั้นที่ 4 มาก่อน บรรยายเพียงว่า ก่อสร้างเสาเหล็ก ซึ่งความจริงจำเลยไม่สามารถก่อสร้างเสาเหล็กได้นั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 4 บัญญัติความหมายของคำว่า อาคาร ว่าให้หมายความรวมถึงส่วนต่าง ๆ ของอาคาร และคำว่า ดัดแปลง ว่า เปลี่ยนแปลง ต่อเติม เพิ่ม ลด หรือขยายซึ่งลักษณะขอบเขต แบบ รูปทรง สัดส่วน น้ำหนัก เนื้อที่ ของโครงสร้างของอาคารหรือส่วนต่าง ๆ ของอาคารซึ่งได้ก่อสร้างไว้แล้วให้ผิดไปจากเดิม และมิใช่การซ่อมแซมหรือการดัดแปลงที่กำหนดในกฎกระทรวง การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทำการดัดแปลงอาคารตึกแถวจากเดิมซึ่งเป็นอาคาร 3 ชั้น ดัดแปลงเป็นอาคาร 5 ชั้น โดยทำการก่อสร้างเสาเหล็กขึ้นตามชั้นต่าง ๆ และทำการก่อสร้างพื้น ค.ส.ล. ในชั้นที่ 5 ด้วย อันเป็นการเพิ่มขยายขอบเขต รูปทรง น้ำหนัก ทำให้รูปแบบโครงสร้างของอาคารที่ได้ก่อสร้างไว้แล้วผิดไปจากเดิมโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นและไม่ได้รับยกเว้นใด ๆ ตามกฎหมายให้กระทำได้ พร้อมทั้งอ้างพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 4 จึงเป็นการบรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดครบองค์ประกอบความผิดฐานดัดแปลงอาคารโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ตลอดจนข้อเท็จจริงและรายละเอียดพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) แล้ว โดยโจทก์ไม่จำต้องบรรยายว่าการก่อสร้างเสาเหล็ก (วายแฟร้งค์) ถือเป็นส่วนหนึ่งของอาคาร และจำเลยก่อสร้างดัดแปลงอาคารตั้งแต่ชั้นที่ 1 ถึงชั้นที่ 4 มาก่อนอีก ส่วนความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้รื้อถอนอาคาร จำเลยฎีกาว่า ฟ้องโจทก์มิได้บรรยายถึงวันที่จำเลยทราบคำสั่งให้รื้อถอนอาคารที่ดัดแปลงตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 47 ทวิ ซึ่งเป็นวันที่พ้นกำหนดสามวันนับแต่วันปิดประกาศ คือวันที่ 2 พฤษภาคม 2551 นั้น เห็นว่า แม้พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 47 ทวิ กำหนดให้วันที่ปิดประกาศคำสั่งเป็นวันเริ่มนับระยะเวลาที่ให้ถือว่าจำเลยทราบคำสั่งและมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวภายในกำหนด มิฉะนั้นจะมีความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่ง และโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องถึงวันเริ่มต้นที่จำเลยทราบคำสั่งให้รื้อถอนอาคารก็ตาม แต่โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2551 เจ้าพนักงานท้องถิ่นได้แจ้งคำสั่งเป็นหนังสือให้จำเลยรื้อถอนอาคารส่วนที่ดัดแปลงที่จำเลยก่อสร้างดัดแปลงโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและเป็นกรณีที่เป็นอาคารที่ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องตามกฎหมายได้ โดยในวันที่ 29 เมษายน 2551 เจ้าพนักงานท้องถิ่นได้ปิดประกาศสำเนาคำสั่งดังกล่าวไว้ในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย ณ หน้าอาคารดังกล่าว ครั้นเมื่อครบ 60 วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง คือวันที่ 3 กรกฎาคม 2551 ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน จำเลยได้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นโดยไม่รื้อถอนอาคารส่วนที่ดัดแปลง และมิได้อยู่ในระหว่างอุทธรณ์คำสั่ง การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า เจ้าพนักงานท้องถิ่นได้ปิดประกาศสำเนาคำสั่ง เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2551 และเมื่อครบ 60 วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง คือวันที่ 3 กรกฎาคม 2551 ย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่า จำเลยทราบคำสั่งให้รื้อถอนอาคารของเจ้าพนักงานท้องถิ่นโดยผลของบทกฎหมายดังกล่าวในวันที่ 2 พฤษภาคม 2551 และวันที่ 3 กรกฎาคม 2551 ก็เป็นเวลาที่ครบ 60 วัน ที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นกำหนดให้รื้อถอนอาคารแล้ว ถือว่าฟ้องโจทก์ได้บรรยายรายละเอียดถึงวันที่จำเลยทราบคำสั่งให้รื้อถอนอาคารที่ดัดแปลงตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 47 ทวิ ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า จำเลยดัดแปลงอาคารโดยไม่ได้รับใบอนุญาตเสร็จและทราบคำสั่งให้รื้อถอนอาคารของเจ้าพนักงานท้องถิ่นในวันที่ 2 พฤษภาคม 2551 อายุความในความผิดทั้งสองฐานจึงเริ่มนับแต่วันดังกล่าวนั้น เห็นว่า ความผิดฐานดัดแปลงอาคารโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารฯ มาตรา 21, 65 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง ระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้รื้อถอนอาคารที่ดัดแปลง ตามมาตรา 42, 66 ทวิ ระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวมีอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (4) ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ปรับรายวันหลังวันที่ 11 มิถุนายน 2551 ในความผิดฐานดัดแปลงอาคารโดยไม่ได้รับใบอนุญาต อันเป็นการแก้ไขเล็กน้อย และคงลงโทษจำคุกกระทงละไม่เกินห้าปีและปรับ จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 ดังนั้น การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนว่า จำเลยกระทำความผิดฐานดัดแปลงอาคารโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2550 ต่อเนื่องกันไปถึงวันที่ 11 มิถุนายน 2551 จึงต้องเริ่มนับอายุความในวันที่ 12 มิถุนายน 2551 เมื่อนับถึงวันที่ 8 พฤษภาคม 2556 ที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ยังไม่เกินห้าปี คดีของโจทก์ยังไม่ขาดอายุความ ส่วนความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้รื้อถอนอาคาร ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงยุติว่า เมื่อครบกำหนด 60 วัน ตามคำสั่งที่ให้รื้อถอนอาคารในวันที่ 3 กรกฎาคม 2551 แล้ว จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้รื้อถอนอาคารจึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2551 เมื่อนับถึงวันที่ 8 พฤษภาคม 2556 ที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ยังไม่เกินห้าปี คดีของโจทก์ยังไม่ขาดอายุความเช่นกัน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อสุดท้ายว่า จำเลยต้องชำระค่าปรับรายวันในความผิดฐานดัดแปลงอาคารโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 21, 65 วรรคสอง ถึงวันก่อนกำหนดรื้อถอนตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น มิใช่ถึงวันที่จำเลยรื้อถอนเสร็จนั้น เห็นว่า ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาแก้ไม่ปรับรายวันจำเลยสำหรับความผิดฐานดัดแปลงอาคารโดยไม่ได้รับใบอนุญาตหลังจากวันที่ 11 มิถุนายน 2551 แล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน