โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 4, 5, 6, 9, 14, 26/4, 26/5 31 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 5, 54, 55, 72 ตรี ให้จำเลย คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารออกจากป่าสงวนแห่งชาติที่เกิดเหตุ และรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากป่าสงวนแห่งชาติภายในระยะเวลาที่กำหนด กับให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย 3,949,975.46 บาท แก่กรมป่าไม้ตามกฎหมาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง แต่ให้จำเลย คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารออกจากป่าสงวนแห่งชาติที่เกิดเหตุ และให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากป่าสงวนแห่งชาติที่เกิดเหตุภายใน 30 วัน นับแต่วันมีคำพิพากษา
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 แผนกคดีสิ่งแวดล้อมพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอที่ให้จำเลย คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารออกจากป่าสงวนแห่งชาติที่เกิดเหตุ และให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากป่าสงวนแห่งชาติที่เกิดเหตุภายในระยะเวลาที่กำหนดด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงและผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า ที่เกิดเหตุเป็นป่าบ้านโป่งเกตุ เนื้อที่ 57 ไร่ 3 งาน 52 ตารางวา ตั้งอยู่หมู่ที่ 7 ตำบลห้วยทราย อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นส่วนหนึ่งของป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรี ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรออกกฎกระทรวงฉบับที่ 325 (พ.ศ.2511) ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 กำหนดให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและปิดประกาศให้ประชาชนทราบแล้ว จำเลยเข้ายึดถือ ครอบครอง ทำประโยชน์ในที่เกิดเหตุติดต่อกันมาเป็นเวลาเกินกว่า 20 ปี โดยปลูกต้นยางพาราและสับปะรด สร้างบ้าน 1 หลัง และห้องน้ำ 1 ห้อง ในวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้อง เจ้าหน้าที่ป่าไม้เข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุ และเห็นว่าจำเลยมิใช่ผู้ยากไร้หรือผู้ไร้ที่ทำกินอันจะได้รับการผ่อนผันให้อยู่อาศัยในพื้นที่ป่าได้ จึงร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในข้อหายึดถือครอบครองทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในที่ดิน หรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนโดยชอบแล้ว ชั้นสอบสวนจำเลยให้การปฏิเสธ
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องและต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่กรมป่าไม้หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามที่พยานโจทก์ทั้งหมดเบิกความสรุปได้ว่าที่เกิดเหตุและที่ดินโดยรอบไม่มีสภาพเป็นป่าแต่เป็นสวนยางพาราบ้าง ไร่สับปะรดบ้าง และราษฎรเข้าทำประโยชน์เต็มพื้นที่ สอดคล้องกับจำเลยที่อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า ซื้อที่ดินที่เกิดเหตุจากนายตื้อเมื่อประมาณ ปี 2532 ขณะซื้อที่ดินมีพริกและข้าวโพดปลูกอยู่แล้ว และมีต้นสนปลูกในที่ดิน ไม่มีสภาพเป็นป่า ที่ดินข้างเคียงส่วนใหญ่ปลูกพริก หลังจากซื้อที่ดินแล้วจำเลยตัดต้นสนออกปลูกสับปะรดแทน ไม่เคยมีเจ้าหน้าที่ป่าไม้และเจ้าพนักงานตำรวจมาแจ้งจำเลยว่าบุกรุกป่า ไม่เคยเห็นหลักเขตที่บอกว่าเป็นแนวป่า เช่นเดียวกับที่จำเลยให้ถ้อยคำแก่นายประชัย และที่ให้การไว้ต่อพนักงานสอบสวน เมื่อขณะจำเลยซื้อที่ดินเกิดเหตุ ที่ดินในบริเวณดังกล่าวไม่มีสภาพเป็นป่า แต่มีสภาพการเข้าทำประโยชน์ของราษฎรจนเต็มพื้นที่ จึงมีเหตุให้จำเลยเชื่อโดยสุจริตว่าสามารถเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่เกิดเหตุเช่นเดียวกับราษฎรอื่นได้ เกี่ยวกับหลักเขตหรือป้ายหรือเครื่องหมายอื่น ๆ แสดงแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติตามสมควรเพื่อให้ประชาชนเห็นได้ว่าเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ คงได้ความจากนายมนัส ลูกจ้างประจำของหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ปข.4 (ห้วยทราย) ว่า เคยเห็นหลักหมุดเมื่อปี 2540 มีลูกศรชี้ไปทางซ้ายขวา ให้ตรงไปทางเหนือใต้ หากไปทิศตะวันตกจะเป็นเขตป่า ส่วนทิศตะวันออกจะเป็นเขตของชาวบ้าน หลังจากนั้นไม่ได้สังเกตหลักหมุดดังกล่าวอันแสดงให้เห็นว่าบริเวณดังกล่าวมีหลักหมุดเพียงหลักเดียวปรากฏอยู่ในปี 2540 หลังจากนั้นหลักหมุดดังกล่าวจะคงมีอยู่หรือไม่ ไม่มีพยานโจทก์ใดยืนยันได้ ทั้งหลักหมุดดังกล่าวก็อยู่ห่างจากที่เกิดเหตุถึง 3 กิโลเมตร และพื้นที่จากหลักหมุดดังกล่าวถึงที่เกิดเหตุ ราษฎรก็เข้าครอบครองทำประโยชน์เต็มพื้นที่ จึงถือไม่ได้ว่าในที่เกิดเหตุได้มีหลักเขตหรือป้ายหรือเครื่องหมายอื่น ๆ แสดงแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติตามสมควรเพื่อให้ประชาชนเห็นได้ว่าเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ แม้จะมีประกาศกฎกระทรวงแสดงพื้นที่การเป็นป่าสงวนแห่งชาติ และประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วจึงมีผลบังคับใช้ และต้องถือว่าจำเลยทราบประกาศนั้นแล้วด้วยก็ตามก็เป็นแต่เพียงให้ถือว่าจำเลยทราบประกาศกฎกระทรวงดังกล่าวแล้ว ส่วนแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติที่แท้จริงจะมีเพียงใด กินพื้นที่ถึงบริเวณใด ประชาชนทั่วไปรวมทั้งจำเลยจะทราบได้ก็ต่อเมื่อมีหลักเขตหรือป้ายหรือเครื่องหมายอื่น ๆ แสดงแนวเขตให้ปรากฏ เมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้ ไม่มีหลักเขตหรือป้ายหรือเครื่องหมายอื่น ๆ ที่เจ้าพนักงานต้องจัดให้มีตามสมควรติดตั้งอยู่ แม้แต่เจ้าหน้าที่จะทราบว่าที่เกิดเหตุอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติก็ด้วยการใช้เครื่องมือหาค่าพิกัดผ่านดาวเทียม (จีพีเอส) วัดค่าพิกัด นำไปคำนวณโดยเครื่องคอมพิวเตอร์แล้วจึงทราบ ดังนั้น กรณีจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยยึดถือครอบครองที่ดินโดยรู้อยู่แล้วว่าที่เกิดเหตุเป็นป่าสงวนแห่งชาติและที่เกิดเหตุแม้จะยังไม่มีบุคคลได้มาตามกฎหมายที่ดิน จึงเป็นป่าตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4 (1) แต่ก็ปรากฏว่าที่เกิดเหตุและที่ดินโดยรอบ ไม่มีสภาพเป็นป่า และมีราษฎรครอบครองทำประโยชน์จนเต็มพื้นที่ และตั้งแต่จำเลยเข้าครอบครองที่เกิดเหตุเมื่อปี 2532 ถึงปี 2560 ไม่มีราษฎรรายใดถูกดำเนินคดีฐานบุกรุก ยึดถือ ครอบครอง ทำความเสื่อมเสียแก่สภาพป่า พฤติการณ์แห่งคดีฟังได้ว่าจำเลยเชื่อโดยสุจริตว่าที่เกิดเหตุสามารถเข้าครอบครองทำประโยชน์ได้ การกระทำของจำเลยจึงขาดเจตนากระทำผิด จำเลยจึงไม่มีความผิดตามฟ้อง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้นชอบแล้ว ส่วนในเรื่องค่าเสียหาย ศาลชั้นต้นมิได้แจ้งให้จำเลยให้การในคดีส่วนแพ่งเรื่องค่าเสียหายนี้ และจำเลยยังไม่ได้ให้การในคดีส่วนแพ่ง ทั้งโจทก์และจำเลยต่างก็มิได้นำสืบพยานหลักฐานเกี่ยวกับค่าเสียหายไว้ว่ามีหรือไม่เพียงใด เพื่อจะเป็นฐานให้กำหนดค่าเสียหายได้ เมื่อคดีส่วนอาญาเสร็จสิ้นแล้ว จึงเห็นสมควรให้ผู้เสียหายไปยื่นฟ้องเป็นคดีแพ่งใหม่ต่อศาลที่มีอำนาจชำระ
ปัญหาวินิจฉัยประการต่อไปตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลย คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารต้องออกจากป่าสงวนแห่งชาติที่เกิดเหตุ และรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากป่าสงวนแห่งชาติภายในระยะเวลาที่กำหนดหรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ที่เกิดเหตุอยู่ในเขตป่าและเขตป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรี และจำเลยไม่ได้รับอนุญาตให้อยู่ หรือมีสิทธิใดอันจะอ้างได้ตามกฎหมาย จำเลยจึงต้องออกจากป่าสงวนแห่งชาติ และรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่เกิดเหตุ
ปัญหาประการสุดท้ายตามฎีกาของจำเลยที่ว่า จำเลยมิใช่นายทุน แต่เป็นผู้มีฐานะยากจน ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง และเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่เกิดเหตุมาก่อนมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 จำเลยควรได้รับการผ่อนผันหรืออนุญาตให้ครอบครองทำประโยชน์ที่เกิดเหตุต่อไปนั้น เห็นว่า ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดให้สิทธิแก่จำเลยในการใช้สิทธิทางศาลเพื่อให้ได้รับการผ่อนผันอยู่ในที่ดินป่าและป่าสงวนแห่งชาติได้ สิทธิของจำเลยพึงมีประการใดจะต้องไปดำเนินการต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในการนั้น หาอาจใช้สิทธิทางศาลได้ไม่ การจะได้รับสิทธิผ่อนผันจำเลยจะอ้างได้เพียงทำให้การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดในส่วนคดีอาญาเท่านั้น จะใช้เพื่อพิสูจน์สิทธิของจำเลยในส่วนคดีแพ่งในคดีนี้ไม่ได้ เพราะไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายให้กระทำได้ ดังนั้น จำเลยจึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ในปัญหาประการนี้ได้ แม้จำเลยจะอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยให้ก็ไม่ชอบ ถือว่าเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่จำเลยจะฎีกาต่อมาได้ ถึงจำเลยฎีกาโดยได้รับอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงจากผู้พิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษา และศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยมาโดยชอบก็ตาม ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลย คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารออกจากป่าสงวนแห่งชาติที่เกิดเหตุ และให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากป่าสงวนแห่งชาติที่เกิดเหตุภายใน 30 วัน นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟัง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7